ระยอง-จัดงานประเพณีบุญข้าวใหม่เดือนสาม เผาข้าวหลาม 10,000 กระบอก
ภาพ/ข่าว:อัจฉรา วิเศษศรี
เทศบาลตำบลชากบก จับมือชาวบ้าน 10 หมู่บ้าน จัดงานประเพณี “บุญข้าวใหม่เดือนสาม เผาข้าวหลามชากบก” ส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป โดยภายในงานมีการเผาข้าวหลามมากกว่า 10,000 กระบอก พร้อมนางรำโชว์กว่า 120คน
เมื่อเวลา 19.00 น.วันที่ 19 ก.พ.63 ที่บริเวณหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลชากบก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง เป็นประธานเปิดงานประเพณี”บุญข้าวใหม่เดือนสาม เผาข้าวหลามชากบก ครั้งที่ 12 และโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ประจำปี 2563″ซึ่งจัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลชากบก และชาวบ้านจาก 10 หมู่บ้านในพื้นที่ โดยมีกิจกรรมลานวัฒนธรรม ขบวนแห่ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น นักแสดงนางรำกว่า 120 คน นิทรรศการว่าวไทย สายใยชากบกการจำหน่ายอาหารและขนมไทย ผลิตภัณฑ์ชุมชน การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่น แข่งขันยิงกระสุนไม้ ยิงหนังสติ๊ก ทอยลูกสะบ้า เป็นต้น โดยในช่วงเช้าวันนี้ ได้มีกิจกรรมเผาข้าวหลาม จำนวน 10,000 กระบอก โดยชาวบ้านจาก 10 หมู่บ้านในตำบลชากบก ซึ่งใช้ไม้ไผ่ที่มีในพื้นที่มาทำเป็นข้าวหลามดังกล่าวก่อนจะนำมาจำหน่ายนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์ในชุมชนต่อไป ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป เพื่อส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญาและถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นในตำบลชากบกให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นหลังสืบสานและเห็นคุณค่าอันดีงามและเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความรัก ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพการเผาข้าวหลามให้กับประชาชนอีกด้วย
นายนาค ระยอง นายกเทศมนตรีตำบลชากบก กล่าวว่า งานประเพณีทำบุญข้าวใหม่ หรือที่เรียกกันว่า”บุญข้าวใหม่เดือนสาม” เทศบาลตำบลชากบก จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 แล้ว ถือเป็นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี แต่เริ่มจางหายไปเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งในอดีตชาวบ้านตำบลชากบกส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน และทำไร่ และมีความเชื่อว่าผลผลิตทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หมายถึงเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าท่า เจ้าป่า เจ้าเขา และพระแม่โพสพ คอยปกป้องพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ให้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนศัตรูพืชทั้งหลาย ปัจจุบันประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นค่อยๆ เลือนหายไปจากท้องถิ่น คนรุ่นหลัง เด็กและเยาวชนไม่รู้จักไม่ได้สัมผัสในประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ โดยการทำบุญข้าวหลามจะเริ่มขึ้นก่อนวันพระ หรือเรียกกันว่าวันโกนนั่นเอง และเป็นประเพณีที่สืบสานกันมาจากบรรพบุรุษ จะทำเป็นประจำทุกปีหลังจากเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์จากพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เกี่ยวได้ และชาวบ้านยังอิ่มหนำสำราญสนุกสนานจากการร้องเล่น เต้นรำอีกด้วย