ประจวบคีรีขันธ์-อช.กุยบุรี สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า
ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
เมื่อวันที่ 11 ก.ย.67 นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบฯ เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าบริเวณพื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในอดีต ซึ่งเกิดจากช้างป่าบางโขลงออกหากินนอกพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายและประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน
ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรีจึงมีแนวคิดให้ประชาชนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนเพื่อทดแทนรายได้ที่สูญหายไปจากพืชผลการเกษตรที่ถูกทำลาย โดยใช้กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นศูนย์ กลางการบูรณาการแก้ไขปัญหา สร้างผู้นำ สร้างการมีส่วนร่วมของชุม ชนให้ยั่งยืน ปัจจุบันชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเข้มแข็งภายใต้ชื่อ “ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี” ได้ดำเนินกิจกรรมการนำท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าโดยมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเป็นผู้นำท่องเที่ยว ภายใต้กฎและระเบียบที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กำหนดไว้
ล่าสุด อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ส่งเสริมช่องทางสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาวบ้านรวมไทย ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าหวังต่อยอด เพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและขยายช่องทาง การตลาดให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้น ผ่านช่องทางร้านค้าสวัสดิการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งแล้ว โดยการดำเนินการทั้งหมดเป็นการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ
โดยมีเป้าหมาย คือ คนทำร้ายช้างลดลง และช้างรุกรานคนลดลง พร้อมแนวคิดในการดำเนินงาน คือ “เข้าใจเข้าถึงพัฒนา” มีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 4 กลยุทธ์ ได้แก่ คนรู้จักช้าง คนเข้าใจช้าง คนรักช้าง และคนอยู่ร่วมกับช้าง โดยคาดหวังว่าจะทำให้เกิดอาชีพที่มั่นคง เกิดเครือข่ายในการพัฒนา ที่สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม