ลำปาง-กฟผ.ร่วมภารกิจฟื้นฟูคืนพื้นที่ให้ชุมชน เร่งเคลียร์ดินโคลน อ.แม่สาย

ลำปาง-กฟผ.ร่วมภารกิจฟื้นฟูคืนพื้นที่ให้ชุมชน เร่งเคลียร์ดินโคลน อ.แม่สาย

ภาพ-ข่าว:พรปวีณ์ สุรินทร์มงคล

         การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง พร้อมเคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต ได้สนับสนุนส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัย ล่าสุด บริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 มวลน้ำขนาดใหญ่ได้หอบดินโคลนปริมาณมหาศาล มาพร้อมกับสิ่งปฏิกูลพัดพาถาโถมเข้าใส่บ้านเรือนประชาชนหลายร้อยหลังคาเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก และแม้ว่าสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายลดระดับลงแต่ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับดินโคลนที่หนาเตอะและเศษซากปรักหักพังทับถมภายในอาคารบ้านเรือน ซึ่งยากที่ชาวบ้านจะทำความสะอาดได้เพียงลำพัง
           โดยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ได้ระดมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ร่วมเข้าทำความสะอาดพื้นที่ห้วงระหว่างวันที่ 18-29 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา , ศูนย์อาสาล้างบ้าน , มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ขณะเดียวกัน ยังได้ส่งถุงยังชีพไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยภารกิจดังกล่าวนอกจากจะเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมแล้วยังเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยอีกด้วย
           นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เปิดเผยว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ได้กำชับและสั่งการให้แต่ละพื้นที่เร่งระดมส่งความช่วยเหลือทั้งเครื่องจักรกลและกำลังคน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด ภายใต้โครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
            กฟผ.แม่เมาะ จึงได้ระดมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ทั้งรถตักหน้าขุดหลัง , รถขุดล้อยาง , รถบรรทุกเทท้าย 6 ล้อ และ 10 ล้อ , รถบรรทุกน้ำ และรถเทรลเลอร์ รวมจำนวน 9 คัน ไปสมทบกับผู้ปฏิบัติงานและเครื่องจักรกลของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ , ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.) , เขื่อนภูมิพล (อขภ.) , เขื่อนสิริกิติ์ (อขส.) , สำนักงานใหญ่ กฟผ. และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เกือบ 20 คัน

          โดยมีภารกิจหลักขนดินโคลน เก็บกวาดขยะ สิ่งของ และฉีดล้างทำความสะอาดคราบโคลน เร่งรัดเปิดเส้นทางสัญจร คืนความสะอาดให้กับชุมชน ซึ่งได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาชน ที่ต่างระดมสรรพกำลังฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด
           สำหรับภารกิจที่ กฟผ. ได้รับมอบหมายจะมีการประชุมกันวันต่อวัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามสภาพหน้างาน อุปสรรคใหญ่ของการฟื้นฟูนำดินโคลนออกคือเรื่องสภาพพื้นที่ที่คับแคบและเป็นพื้นที่ชุมชน เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ทำงานค่อนข้างลำบาก การทำงานต้องใช้เวลา แต่เราเองก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อคืนพื้นที่ให้ชุมชนโดยเร็วที่สุด

          “ภารกิจนี้เราไม่ได้ทำงานคนเดียว ร่วมกับหลายหน่วยงาน การประสานงานที่ดี คุยงานกันทำให้การทำงานไม่ขลุกขลัก ราบรื่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ด้วยดี ต้องขอบคุณผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ทุกๆ คน ทั้งคนที่ลงพื้นที่หน้างาน และผู้สนับสนุนต่างๆ ในพื้นที่ กฟผ. ขอบคุณมากที่เสียสละเวลาตัวเอง การลงพื้นที่ทำงานไม่ได้ไปด้วยความสะดวกสบาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบภัย และทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และการทำงานครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือชุมชน กฟผ. อยู่เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต” นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) กล่าว
              ขณะที่ นายพัชระ นามะเสน วิศวกรระดับ 7 แผนกสนับสนุนปฏิบัติการบ่อเหมือง (หสม-ช.) กองจัดการน้ำและสนับสนุนปฏิบัติการ (กจส-ช.) อผม. (ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ) ในฐานะตัวแทนผู้ปฏิบัติงานที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 18-29 กันยายน 2567 กล่าวว่า ภารกิจวันแรกของทีมได้เข้าฟื้นฟูบริเวณชุมชนถ้ำผาจม ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถือเป็นพื้นที่สีแดงด่านแรกรองรับน้ำจากแม่น้ำสาย สภาพแรกที่เห็นต้องยอมรับว่าหนักมาก ดินโคลนปิดทับเส้นทางสัญจร บ้านเรือนหลายหลังบริเวณชั้น 1 ถูกดินโคลนปิดทับ 100% ข้าวของภายในบ้านเสียหายเกือบหมด บางหลังถูกกระแสน้ำพัดพังเสียหาย ซึ่งชาวบ้านเองก็พยายามช่วยเหลือตัวเองแต่ด้วยปริมาณโคลนที่มหาศาลก็เกินความสามารถที่จะกำจัดได้

           ในแต่ละวันแต่ละทีมที่ร่วมภารกิจฟื้นฟูชุมชนถ้ำผาจม จะมีการประชุมวางแผนการทำงานบูรณาการความร่วมมือทั้งกำลังคน เครื่องจักรกล แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุม 2 ตำบล ได้แก่ เทศบาลตำบลเวียงพางคำ และเทศบาลตำบลแม่สาย อ.แม่สาย ภารกิจมีทั้งการล้างโคลนที่ปิดทับเส้นทางสัญจร ทำความสะอาดบ้านเรือน และวางบิ๊กแบคทำแนวคันดินเสริมตลิ่งแม่น้ำสาย
            ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะพื้นที่คับแคบ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยการบริหารจัดการเครื่องจักรกล และการสื่อสารกันระหว่างกันทั้งทีม กฟผ. และทีมอื่นที่บูรณาการร่วมกัน จัดการทำงานให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้การทำงานราบรื่น เป็นไปตามเป้าหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ต้องทำงานแข่งกับเวลา ทุกทีมเริ่มทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงหัวค่ำทุกวัน เพื่อคืนพื้นที่ให้กับชุมชนโดยเร็วที่สุด

             ไม่เพียงแต่ ปริมาณดินโคลนที่มีมหาศาลแล้ว อุปสรรคสำคัญระหว่างการทำงานก็คือ เศษซากปรักหักพังเศษเหล็ก ตะปู และของมีคม ที่ชาวบ้านเริ่มกวาดกองทำความสะอาด ทำให้เครื่องจักรล้อยางที่ทำงานเหยียบย่ำ เกิดการฉีกขาด ต้องปะและซ่อมแซมตลอด
           “ในฐานะตัวแทนของผู้ปฏิบัติงานที่ได้ร่วมภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รู้สึกดีใจภูมิใจ ถือเป็นความทรงจำที่ดี นับเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ แสดงให้เห็นว่าในทุกวิกฤต มีโอกาสให้เราได้แสดงบทบาท แสดงพลังความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน กฟผ. หน่วยงานของเราอยู่เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต EGAT for all พร้อมดูแลช่วยเหลือกันไปตลอด ในส่วนของชาวบ้านเองเค้าก็รู้สึกดีใจที่เห็นหลายความช่วยเหลือ บางคนถึงกับน้ำตาไหล กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ หลายครอบครัวไม่เหลืออะไรเลย ไม่รู้ว่าจะกลับมาตั้งตัวยังไง ทุกๆ เย็นเวลาเลิกงาน นำเครื่องจักรกลไปจอดยังจุดจอด ชาวบ้านจะมาให้กำลังใจ ยืนรอปรบมือ ส่งกำลังใจให้ทีมงาน ทำให้เราตื้นตันใจ มีกำลังใจปฏิบัติงานต่อ อยากให้ทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้ชาวบ้านได้กลับเข้าสู่บ้านพักโดยเร็ว” นายพัชระ นามะเสน วิศวกรระดับ 7 แผนกสนับสนุนปฏิบัติการบ่อเหมือง (หสม-ช.) กองจัดการน้ำและสนับสนุนปฏิบัติการ (กจส-ช.) อผม. (ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ) กล่าว
            แม้ว่าภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของทีม กฟผ. จะสิ้นสุดลง มีการส่งมอบพื้นที่ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้กับเทศบาลตำบลเวียงพางคำ และถอนกำลังออกจากพื้นที่แล้ว แต่การฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยยังคงดำเนินต่อไปด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเร็วที่สุด

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!