นครสวรรค์-จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “SME Soft Power : เสริมพลัง SME ไทย”

นครสวรรค์-จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “SME Soft Power : เสริมพลัง SME ไทย”

ภาพ-ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดนครสวรรค์

           สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “SME Soft Power : เสริมพลัง SME ไทย”
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ในฐานะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี) และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “SME Soft Power : เสริมพลัง SME ไทย สู่ความสำเร็จด้วย Soft Power” กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วย Soft power ระหว่างวันพฤหัสบดี-ศุกร์ 26-27 กันยายน และพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมประพันธ์ศิริ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์
           “เบื้องต้นมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา เป็นหลักในการดำเนินการจัดอบรม และดูแลกิจกรรมจนกว่าจะจบโครงการฯในโอกาสนี้ นายวีรวุฒิ บำรุงไทย รองประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการในจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี ที่ประสบความสำเร็จ โดยมีผู้ประกอบการ SME และผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ จำนวน 43 ราย แยกเป็นกลุ่ม SME รายใหม่ และ กลุ่มผู้ต้องการเป็นผู้ประกอบการ”

           ด้านนายวีรวุฒิ บำรุงไทย กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมโครงการฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เข้าเยี่ยมชมและสังเกตการณ์การอบรมในครั้งนี้ และร่วมสนทนากับผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 2 กลุ่ม (กลุ่ม SME รายใหม่ และ กลุ่มผู้ต้องการเป็นผู้ประกอบการ) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมในการพบหน่วยงานที่ปรึกษา ณ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ยังสามารถเอื้อประโยชน์และเกื้อหนุนให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาต่อยอดกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ สามารถก่อตั้งธุรกิจได้ด้วยตนเอง
            ทั้งนี้นอกจากความรู้อย่างเข้มข้นที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จโดยตรงแล้วกลุ่มผู้ประกอบการ SME รายใหม่ และกลุ่มผู้ต้องการเป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ยังได้รับคำแนะนำและคำปรึกษาจากหน่วยงานต่างๆอีก 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ สำนักงานเกษตรจังหวัดฯ ศูนย์กลุ่มจังหวัดให้บริการ SME ครบวงจร นครสวรรค์ (สสว.) บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (Central Lab) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ธนาคารออมสินภาค 6 นครสวรรค์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) และสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) นายวีรวุฒิ บำรุงไทย กล่าวในท้ายที่สุด

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!