ราชบุรี-ชาวไทยรามัญ ร่วมตักบาตรเทโว..ชมแข่งเรือยาวชิงรางวัลถ้วยพระราชทาน
ภาพ-ข่าว:ประทีป อยู่แช่ม
ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่วัดใหญ่นครชุมน์ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทางวัดได้จัดงานบุญวันออกพรรษา มีการตักบาตรเทโว ข้าวสารอาหารแห้ง โดยมี พระครูนครเขมกิจ เจ้าอาวาสวัดใหญ่นครชุมน์ เจ้าคณะตำบลนครชุมน์-ตำบลบ้านม่วง เดินประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กับประชาชนที่มารอใส่บาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้น พระครูนครเขมกิจ ได้เดินนำพระลูกวัดออกจากอุโบสถ รับบาตรจากประชาชนที่มารอใส่บาตรกันเป็นแถวยาว พร้อมขบวนหนูน้อยนางฟ้า และวัวแคะเทียมเกวียน
นอกจากนั้นทางวัดยังได้จัดพิธีทอดผ้าป่าสามัคคีไปด้วย งานบุญวันออกพรรษา วัดใหญ่นครชุมน์เป็นประเพณีสืบทอดกันมายาวนาน ของชาวไทยเชื้อสายรามัญ ซึ่งภายในบริเวณวัดจะมีบรรดาชาวไทยรามัญที่เป็นหนุ่มสาวเด็กๆและผู้เฒ่าผู้แก่ จะแต่งกายของตนเองอย่างสวยงามในชุดรามัญ ซึ่งปีนี้ยังมีประชาชนในพื้นที่และต่างจังหวัดจำนวนมาก พากันเดินทางมาร่วมงานบุญ..ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
นอกจากนั้นแล้วช่วงเวลาสายวันเดียวกัน..ที่บริเวณหน้าวัดริมแม่น้ำแม่กลอง ทาง อบต.นครชุมน์ โดย นายสมัย แก้วสะอาด นายก อบต.นครชุมน์ พร้อม กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.นครชุมน์ ได้ร่วมกันจัดการแข่งขันกีฬาเรือยาวประเพณีชิงรางวัลถ้วยพระราชทาน พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผวจ.ราชบุรี มาเป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือยาว พร้อมทั้ง นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี นายเกียรติศักดิ์ หอมเย็นใจ นอภ.บ้านโป่ง ข้าราชการ และผู้บริหารท้องถิ่นใน อ.บ้านโป่ง เข้าร่วมในพิธีอย่างสมพระเกียรติกับรางวัลถ้วยพระราชทาน ซึ่งปีนี้มีเรือยาวในจังหวัดราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมทำการแข่งขันทั้งหมด 10 ลำ เป็นเรือยาวประเภท 30 ฝีพาย
สำหรับวัดใหญ่นครชุมน์ ตั้งอยู่ในชุมชนชาวมอญ ติดกับแม่น้ำแม่กลอง เป็นวัดเก่าแก่ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายรามัญ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2081-2084 ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยชาวมอญได้เข้ามาอาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และได้รวมกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ประกอบอาชีพสุจริต ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย นับถือผีบรรพบุรุษ และเคร่งคัดในพุทธศาสนา ส่วนวัดใหญ่นครชุมน์นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง
แต่ตามข้อสันนิษฐานของคนเก่าแก่ในพื้นบ้านประกอบหลักฐานที่ค้นพบ เชื่อว่าชนชาติมอญ..ที่อพยพเข้ามาอยู่ หลังจากปักหลักปักฐานอยู่อย่างมั่นคงแล้ว จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นศูนย์รวมใจของชาวมอญ เมื่อถึงวันสงกรานต์ วันออกพรรษา และทุกวันพระ ก็จะพากันเข้าวัดทำบุญ ยึดมั่นถือปฏิบัติไม่เสื่อมคลายมาจนถึงปัจจุบัน