กาฬสินธุ์-นายอำเภอนำข้าราชการ ผู้นำชุมชน จิตอาสา ลงแขกเกี่ยวข้าว
ภาพ-ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดกาฬสินธุ์
นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ นำข้าราชการ ผู้นำชุมชน จิตอาสา จับเคียวเกี่ยวข้าว สืบสานประเพณี “ลงแขกเกี่ยวข้าว” ของชาวอีสาน เป็นต้นแบบของการลดต้นทุนจากการจ้างรถเกี่ยวข้าว ทดแทนการจ้างแรงงาน และป้องกันการปลอมปนของพันธุ์ข้าว นำผลผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เพาะปลูก และนำไปสีเป็นข้าวสารนำไปช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง หรือผู้ประสบสาธารณภัย
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่บริเวณแปลงนาสาธิต หลังที่ว่าการอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด นำส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน จิตอาสา จำนวน 40 คน ลงมือเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นการเกี่ยวมือตามวิถีชาวนาอีสานดั้งเดิม และเป็นการร่วมกันลงแรงเกี่ยวข้าวโดยใช้เคียวในรูปแบบ “ลงแขก” ที่ปัจจุบันเริ่มสูญหายไป เนื่องจากไปนิยมจ้างรถเกี่ยวข้าวที่สะดวกและรวดเร็วกว่า
นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด กล่าวว่า ตามที่พฤติกรรมการทำนาของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรชาวนา ในพื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หรือทั่วไปในภาคอีสานเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานสัตว์เลี้ยงและแรงงานคน ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสะดวกสบายและง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันกลับเป็นสาเหตุของการเพิ่มทุนการผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น หากคำนวณผลผลิต รายรับกับรายจ่ายที่ลงทุนไปไม่คุ้มทุน
นายเอกรัตน์กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการทำนาหลายขั้นตอน ตั้งแต่ไถดะ ไถพรวน คราด ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าน้ำมัน ค่าแรง ค่าปุ๋ยบำรุง นับวันมีแนวโน้มสูงขึ้น เฉลี่ยต่อไร่ 3-4 พันบาท ขณะที่ราคาจำหน่ายผลผลิตข้างเปลือกยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ก.ก.ละ 7-9 บาท หรือไม่เกิน 11 บาท ตามที่ทราบกันดี จึงได้มองหาวิธีที่จะช่วยชาวนาประหยัดทุน จึงใช้พื้นที่ว่างเปล่าหลังที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นแปลงสาธิต ทำนาดำ ที่ได้ผลผลิตมากกว่านาหว่าน ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยคอก แรงงานก็อาศัยข้าราชการ อส.ที่เป็นชาวนาอยู่แล้ว ช่วยกันทำ ปีนี้เป็นปีที่ 2 ปีแรกได้ผลผลิตไม่สูงนัก ประมาณ 700 ก.ก. เพราะดินขาดสารอาหาร ต้องบำรุงกันใหม่
“ที่ผ่านมาก็พยายามรณรงค์ชาวนา ได้ทำนาอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยจากมูลสัตว์ เพื่อประหยัดต้นทุน ขณะเดียวกันในส่วนของการเก็บเกี่ยว ก็รณรงค์ให้ใช้แรงงาน หรือที่ชาวอีสานเรียกว่าการลงแขก เพื่อประหยัดค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ที่ปัจจุบันตกไร่ละ 600-700 บาท ตามระยะทางและความยากง่าย ซึ่งผลดีของการลงแขกหรือเกี่ยวมือ คือสร้างความรักความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะและองค์กร เป็นการสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ป้องกันพันธุ์ข้าวปลอมปน เมล็ดข้าวได้ผึ่งแดดจนแห้ง เพื่อที่จะได้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ หากนำไปจำหน่ายก็จะได้ราคาดี ไม่ถูกแหล่งรับซื้อกดราคา หักค่าความชื้น หรือหักสิ่งเจือปน และยังเป็นการคัดพันธุ์ข้าวไปในตัว เพื่อนำไปเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป โดยตั้งชื่อให้ว่า “พันธุ์ข้าวบ้านยาง” ซึ่งผู้นำชุมชน เกษตรกรชาวนาที่มาร่วมกิจกรรม ไม่ต้องไปซื้อพันธุ์ข้าวที่มีราคาสูงอีกด้วย” นายเอกรัตน์กล่าว
นายเอกรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น ผึ่งฟ่อนข้าวไว้ประมาณ 3 แดดก็เก็บกู้ มัดเป็นฟ่อน รวบรวมไปขึ้นลาน จากนั้นร่วมกันลงแขกตีข้าว สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้ จัดสรรเป็น 2 ส่วนคือ เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์และนำไปสีเป็นข้าวสาร บรรจุถุงมอบให้ครัวเรือนเปราะบาง หรือผู้ประสบสาธารณภัยในพื้นที่ อ.ยางตลาด ต่อไป