ประจวบคีรีขันธ์-รพ.ประจวบฯ จัดกิจกรรมตรวจเบาหวาน ฟรี! ให้ครูและนักเรียน
ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.67 โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ จัดกิจกรรมเนื่องในวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ประจำปี 2567 “สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน” ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตระหนักภัยร้ายสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเบาหวาน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ นำโดย แพทย์หญิงมัลลิกา ธรรมาเจริญราช อายุรแพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และนักโภชนาการ
มีกิจกรรมประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด วัดความดันโลหิต วัดรอบเอว การประเมินค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน การรับประทานอาหารโดยมุ่งเน้นให้นับ Carb ในการรับประทานอาหารของแต่ละบุคคลในแต่ละวันเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ และสแกนคิวอาร์โค๊ด ลงข้อมูลในแอปพลิเคชั่น “รมต.พานับคาร์บ” แบบฟอร์มสำรวจการนับคาร์บ ปี 2567 “ลดแป้ง พร่องน้ำตาล เบาหวานรักษาหาย” สอนวิธีการอ่านฉลากอาหาร ส่งเสริมด้านการออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและการเข้าถึงข้อมูลทางด้านสุขภาพที่ถูกต้อง ตอบปัญหามอบรางวัลเรื่องโรคเบาหวาน
โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย คณะครูและนักเรียน จำนวน 62 คน ที่ห้องโสตทัศนศึกษา ชั้น 1 อาคาร 5 โรงเรียนประจวบวิทยาลัย
โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของทั่วโลกและมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเกิดจากการดำเนินชีวิตและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ข้อมูลจาก IDF Diabetes Atlas พบว่า 1 ใน 10 คน ทั่วโลกป่วยด้วยโรคเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 4 ล้านคนต่อปี คาดว่า ภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2588 จะเพิ่มมากถึง 783 ล้านคน ผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 90% เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย สำหรับประเทศไทยพบว่า 1 ใน 10 คน ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 6.5 ล้านคน
โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และร้อยละ 40 ที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย จะเห็นได้ว่าปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีใจความส่วนหนึ่งในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 เน้นย้ำให้ใช้เครือข่ายสาธารณสุขในการมีส่วนร่วมป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายในการส่งเสริมให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้คนไทยนับ Carb ในการรับประทานอาหารของแต่ละบุคคลในแต่ละวัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อโดยขับเคลื่อนผ่านกลไกอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.)
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นต้องดูแลและจัดการตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขได้โดยการจัดการสุขภาพด้านร่างกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยง