“พิ้งกี้” โนรา..ตัวอ่อน วัย 12 ขวบ ม.1 โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ฝึกซ้อมเตรียมแสดงงานมอเตอร์โชว์ หาดใหญ่
ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร
นักเรียน ม.1 วัย 12 ปี ด.ญ รินมณี ซ้วนเล่ง น้องพิ้งกี้ อายุ 12 ปี กำลังศึกษาอยู่โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลาห้อง1/2 ฝึกฝนการร่ายรำมโนราห์ จนพูดได้ว่า รำได้สวยงาม อ่อนช้อย แม้กระทั่้งท่ายาก การพดตัวในถาด (มโนราห์ตัวก่อน) การโค้งตัวรำในท่ายาก แต่น้องสามารถทำได้ด้วยวัยเพียง 12 ขวบ
บางคนบอกว่า คนที่รำมโนราห์เป็นโดยไม่ต้องมีการฝึก บางคนฝึกเพียงเล็กน้อยก็รำเป็นรำได้ เพราะมี ‘ครูหมอโนรา’ อันเป็นความเชื่อของคนใต้ว่า ’ครูหมอโนรา‘มีอยู่จริง มีวัดบางแห่งในจังหวัดสงขลา พัทลุง จึงจัดงาน ‘ไหว้ครูโนรา’เป็นงานประจำปี
มโนราห์ หรือโดยย่อว่า โนรา เป็นชื่อศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีรากศัพท์ที่มาจากคำว่า “นระ” เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่ามนุษย์ เพราะการร่ายรำแต่เดิมแล้ว การรำโนราจะรำให้เสมือนกับท่าร่ายรำของเทวดา
มโนราห์มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี บทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคำให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำและเครื่องแต่งกายเครื่องดนตรีประกอบด้วย กลอง ทับคู่ ฉิ่งโหม่ง ปี่นอก หรือ ปี่ใน และกรับ ปัจจุบันพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมด้วย เดิมนิยมใช้ผู้ชายล้วนแสดง แต่ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้าไปแสดงด้วย
เสียงบรรเลง ‘มโนราห์’ หรือ ‘โนรา’ ที่ดังเป็นจังหวะฮึกเหิมและมีท่วงทำนองกระฉับกระเฉงเร้าใจสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนให้ตรึงอยู่ได้ ศิลปะการแสดงชนิดนี้เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย
ท่าทางการร่ายรำโนราสง่างามทรงพลัง แต่ไม่ทิ้งความอ่อนช้อย ทั้งการวางลำตัวที่ต้อง ‘หน้าเชิด อกแอ่น’ การตั้งวงที่ต้องกางแขนให้ได้ฉาก 90 องศา การดัดนิ้วมือให้โค้งงอ ว่ากันว่าตอนดัดนิ้วถ้านิ้วมือหักลงมาได้ถึงข้อมือจะดีมาก การดัดให้แขนหมุนได้ขณะที่ข้อมือยังตั้งตรง การลงฉากหรือการย่อตัวที่ต้องได้เหลี่ยมเพื่อแสดงถึงรากฐานที่แข็งแรงและมั่นคง เหมือนโขนพระ ยักษ์ ลิง
ในการแสดงโขน ขณะรำผู้รำปรับโครงสร้างร่างกายให้ส่วนก้นงอนเล็กน้อยเพื่อให้ช่วงสะเอวแอ่นแลดูสวยงามตามแบบฉบับการรำโนรา นอกจากนี้โนรายังมีจุดเด่นเรื่องเครื่องทรงและเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยชุด ‘เครื่องลูกปัด’ สีฉูดฉาดหลากสี ลายข้าวหลามตัดและลายดอกพิกุล เป็นงานฝีมือที่มีความละเอียดและประณีต ‘เทริด’ (อ่านว่า เซิด) เครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่ ลักษณะเป็นมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้าและมีด้ายมงคลประกอบ
ข้อสันนิษฐานถึงที่มาที่ไปของศิลปะพื้นบ้านมโนราห์มีหลากหลายความเชื่อ บ้างว่าได้รับอิทธิพลจากการร่ายรำของอินเดียโบราณที่เรียกว่า ‘ยาตรา’ หรือ ‘ชาตรา’ ที่เข้ามาทางแหลมมลายูสมัยอาณาจักรศรีวิชัย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีประกอบ 5 ชนิด ที่เรียกว่า ‘เบญจสังคีต’ ได้แก่ โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง และปี่ใน แบบเดียวกับที่ใช้บรรเลงโนรา หรือที่สมัยก่อนเรียกว่า ‘การแสดงชาตรี’
ไม่รู้เหมือนกันว่าคนรุ่นใหม่ปัจจุบันรู้จักมโนราห์ไหมหรือมองมโนราห์อย่างไร จะบอกว่าเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการแสดงดั้งเดิมที่ไม่ทันสมัยและน่าเบื่อหรือเปล่า แต่สำหรับเด็กเยาวชนกลุ่มมโนราห์ในโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ยังให้ความสนใจ ไม่ลืมรากเง้าของบรรพบุรุษ ยังให้ความสนใจฝึกฝนจนชำนาญ น้องพิ้งกี้ เป็นหนึ่งในนั้น
น้องพิ้งกี้ใช้เวลาว่างรับงานการรำมโนราห์ เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว โดยไม่เสียการเรียน อันมีผลการศึกษาเกือบเกรด 4 เป็นเครื่องการันตี และในช่วงนี้กำลังฝึกซ้อมการแสดง เพื่อไปแสดงโชว์ในงานมอเตอร์โชว์วันที่ 9 ธันวาคมนี้ที่ห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ กับการกลับมาอีกครั้งของงานมอเตอร์โชว์ หาดใหญ่ ติดต่องานแสดงโทร093-5797296 แม่นุ้ย
“สักวันหนึ่งเราอาจได้เห็นน้องได้รับทุน เพื่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น”
ประวัติการก่อตั้งชุมนุมโนรา “มหาวชิราวุธ”
โนรามหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2530 โดยในขณะนั้นมีคุณครูจรินทร์ สุวรรณโชติ คุณครูประสาสน์ แก่นกระจ่าง และคุณครูสมปอง ฟองมณี เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ชุมนุมโนรา “มหาวชิราวุธ” โดยเริ่มจากความชื่นชอบ และรวบรวมชักชวน นักเรียนที่รักและมีความสนใจในด้านการแสดงโนรา โดยได้เชิญอาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงโนรา) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและควบคุมการฝึกซ้อม ต่อมาได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจาก นายมนัส อินทร์ศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในขณะนั้น จนกระทั่งเป็นที่รู้จัก และยอมรับโดยทั่วไป
ปัจจุบันชุมนุมโนรา “มหาวชิราวุธ” ใช้การถ่ายทอดจากความรู้ จากรุ่นสู่รุ่น จากพี่สู่น้อง จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ อาทิ เช่น รางวัลชนะเลิศการแสดงพื้นบ้านโนรา ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยึดถือและปฏิบัติท่วงท่าการร่ายรำโนรา ในรูปแบบของ ท่านขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่ม เทวา ) โดยร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมการร่ายรำโนรา มาจวบจนปัจจุบัน
ปัจจุบัน ชุมนุมโนรา “มหาวชิราวุธ” มีอาจารย์ผู้ควบคุมคือ ครูปริญญ์ ทองเจือเพ็ชร และอำนวยการควบคุมโดย ผู้อำนวยการ วัฒนา ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา