สุพรรณบุรี-จัดงานประเพณี”บุญข้าวเม่า”
ภาพ-ข่าว:มงคล สว่างศรี/นิกร สิงห์พิมาตร์
งานสืบสานประเพณี บุญข้าวเม่า ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานับ 100 ปี ก่อนที่จะเลือนหายตามกาลเวลา การแสดงฟ้อนรำสนุกสนาน สร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน สืบสานวัฒนธรรม (บวร) “บ้าน วัด โรงเรียน” ชุมชนลาวเวียงบ้านจร้าเก่า (จะ-ล้า-เก่า) ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สาธิตการทำขวัญข้าวในอดีตของปราชญ์ชุมชน ย้อนรอยการละเล่นในอดีต ขี่ม้าก้านกล้วย มอญซ่อนผ้า งูกินหาง ลีลีข้าวสารและจำลองโชว์ลีลาการแห่นาคโหด
ไปกันที่วัดจำปา หมู่ 1 ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พระครูอาทรธรรมประทีป คณะตำบลบ้านโข้ง เขต 1 และเจ้าอาวาสวัดจำปา นางวาสนา มาตรศรี สจ.เขตอำเภออู่ทอง นายมนตรี คำตัน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านโข้ง และนางจุฑามาศ ธรรมจาดี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผ้าทอตีนจกและผ้าทอพื้นเมือง ตำบลบ้านโข้ง ชาวบ้านชุมชนลาวเวียงบ้านจร้าเก่า (จะ-ล้า-เก่า) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยชาวบ้าน จำนวน 14 หมู่บ้าน ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง ร่วมกันจัดงานประเพณีบุญข้าวเม่า ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ สืบทอดกันมานับ 100 ปี โดยจะจัดงานขึ้นในช่วงเดือนสิบสอง ซึ่งในช่วงที่ข้าวตั้งท้องออกรวง เปลี่ยนเป็นเมล็ดข้าวแล้ว ก่อนข้าวจะสุกเต็มที่ ชาวบ้านก็จะเก็บมาทำข้าวเม่า ตำข้าวเม่าไว้ทำบุญถวายพระและเอาไว้กินกันในช่วงนี้ ชาวบ้านจึงเรียกพิธีช่วงนี้ว่าบุญข้าวเม่า
ภายในงานจัดให้มีการแสดงวิถีชีวิตคนบ้านโข้ง เพื่อฟื้นฟูย้อนรอยการละเล่นในอดีต เช่น ขี่ม้าก้านกล้วย มอญซ่อนผ้า งูกินหาง และรีรีข้าวสาร เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูการละเล่นของไทยในอดีตให้คงอยู่และจำลองการแห่นาคโหด จากชมรมแห่นาควัดจำปา ที่ขึ้นชื่อของชาวบ้านจร้าเก่า สาธิตการทำขวัญข้าวของปราชญ์ชุมชน การแข่งขันการตำข้าวเม่าลีลา แต่ละหมู่บ้านโชว์ลีลา ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใคร ตำไปรำไปควงสากตำข้าวไปด้วย สร้างความสนุกสนานแก่ผู้ที่มาร่วมงาน เรียกเสียงเชียร์เสียงหัวเราะจากกองเชียร์ ที่แต่ละหมู่บ้านขนมาลุ้นอยู่ข้างๆ กันเต็มที่
นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันกินข้าวเม่าลีลา ที่ใส่มะพร้าวขูดและน้ำตาลสีรำ หรือน้ำตาลทรายแดง เป็นการสร้างสีสันความสนุกสนานและสร้างความรัก ความสามัคคี ให้กับคนในชุมชนชาวลาวเวียง สำหรับผู้ที่ชนะการแข่งกินข้าวเม้าลีลา ได้แก่ ผู้ใหญ่พรศักดิ์ ชาวสวน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านทุ่งดินดำ ตำบลบ้านโข้ง นอกจากกินไวแล้วยังมีลีลาถูกใจกรรมการ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนเงินรางวัลที่ได้รับนั้น ทางผู้ชนะนำมาทำบุญถวายให้กับท่านเจ้าอาวาสวัดจำปา ชาวบ้านที่มาร่วมงานบุญข้าวเม่า จะแต่งกายด้วยผ้าพื้นถิ่น ใส่เสื้อแส่ว นุ่งผ้าซิ่นตีนจก และชุดไทยโบราญ กันอย่างสวยงาม มีการแสดงฟ้อนรำสนุกสนาน ภายในงานโชว์การทอผ้า ซิ่นตีนจก แบบโบราญ นำข้าวขอเครื่องใช้สมัยอดีตมาโชว์ สาธิตหุงข้าวเตาถ่านแบบโบราญ เป็นต้น
ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อถึงเวลาใกล้เก็บเกี่ยวข้าวได้ หรือข้าวพอเม่าการตำข้าวเม่า เมื่อข้าวออกรวงจวนจะเกี่ยว ชาวนาจะนำข้าวมานวดแล้ว ใส่กระทะคั่วด้วยเต่าถ่านพอสุก แล้วนำมาตำครกโบราญ และนำมาใส่กระโด้งฝัดข้าว ให้เหลือแต่ข้าวที่ตำ (ข้าวเม่า) แล้วนำมาเอามะพร้าวที่ขูดเอาไว้มาใส่คลุกให้เข้ากัน ใส่น้ำตาลสีรำ หรือน้ำตาลทรายแดง นำมารับประทานเป็นของหวาน รับประกันความอร่อย นำข้าวเม่าไปบูชาที่ศาลเจ้าบ้าน (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน) และนำไปทำบุญถวายพระสงฆ์ที่วัด ซึ่งคนสมัยก่อนเชื่อว่าตำข้าวเม่าไปทำบุญถวายพระ ทำนาจะได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ ในยุคปัจจุบันประเพณีตำข้าวเม่าอันดีงามเหล่านี้ได้จางหายไปตามกาลเวลาตามยุคตามสมัย ทางชุมชนลาวเวียงบ้านจร้าเก่า (จะ-ล้า-เก่า) จึงได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูขึ้นมา จัดงานเพื่อฟื้นฟูประเพณีตำข้าวเม่า งานบุญข้าวเม่า ขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้ช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดกันต่อไป
ด้านพระครู อาทรธรรมประทีป เจ้าคณะตำบลบ้านโข้ง เขต 1 และเจ้าอาวาสวัดจำปา กล่าวว่าประเพณีตำข้าวเม่า เป็นวิถีชีวิตของชาวลาวเวียง มีมาแต่โบราณ ซึ่งปัจจุบัน ด้วยกาลเวลาเปลี่ยนไป วิถีชีวิตดั้งเดิมก็เริ่มจะสูญหาย ลดลงไปตามกาลเวลา
ชุมชนชาวลาวเวียง ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงร่วมใจกันจัดกิจกรรมประเพณีตำข้าวเม่า งานบุญข้าวเม่า ขึ้นมา เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวนาที่มีมาแต่โบราณ สืบสานไว้ให้ลูกหลานได้รู้จักและช่วยกันสืบทอดต่อไป ซึ่งตอนที่ตนยังเป็นเด็กก็เคยตำข้าวเม่ามาเหมือนกัน จึงอยากอนุรักษ์ประเพณีตำข้าวเม่านี้ไม่ให้เลือนหายไป จึงขอให้ช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานเอาไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป