ลำปาง-กฟผ.แม่เมาะ ร่วมประชุมการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคถ่านหิน
ภาพ-ข่าว:พรปวีณ์ สุรินทร์มงคล
กฟผ.แม่เมาะ ร่วมประชุมการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคถ่านหิน ในประเทศไทย ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานถ่านหิน สู่พลังงานสะอาด ตลอดจนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลดการใช้ถ่านหินร่วมกัน
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ N403 อาคารรัฐสภา นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ, นางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ร่วมประชุมการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคถ่านหิน ในประเทศไทย ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานถ่านหิน ไปสู่พลังงานสะอาด รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลดการใช้ถ่านหิน
มีผู้เข้าร่วมประชุมอาทิ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ,สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ภาคเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ นำเสนอภารกิจของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการสร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบ Social Enterprise หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ตลอดจนศักยภาพของพื้นที่ และความพร้อมของพื้นที่ที่สามารถสร้างเป็น Renewable Energy Hub รองรับความต้องการด้านพลังงานสะอาดในอนาคตอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลิกไนต์ ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้า ประมาณ 2,455 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตจะลดลงร้อยละ 50 ในปี 2569 การปลดระวางโรงไฟฟ้า จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงานในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียง กฟผ.จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจ และสื่อสารให้กับชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่เป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุด กฟผ. จึงตั้งโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ขึ้น เพื่อรับผิดชอบในการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต