นครปฐม-สรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่
ภาพ-ข่าว:บก.อริย์ธัช พรอัศวโยธิน
“ย้ำยังต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ถึงอันตรายของการขับรถด้วยความเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย”
วันที่ 6 มกราคม 2568 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมอภิรมย์ฤดี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 จังหวัดนครปฐม เป็นประธานการประชุมพร้อมปิดศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นายนพดล คำนึงเนตร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครปฐมกรรมการและเลขานุการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 จังหวัดนครปฐม กล่าวรายงานสรุปผลการปฏิบัติในภาพรวม ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 (ช่วงควบคุมเข้มข้น) วันระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 10 วัน เกิดอุบัติเหตุทางถนน 32 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 25 คน และมีผู้เสียชีวิต 10 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด รองลงมาตัดหน้ากระชั้นชิดและดื่มแล้วขับ
พฤติกรรมเสี่ยงส่วนใหญ่มาจากการไม่สวมหมวกนิรภัย รองลงมา ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกฎหมายที่กำหนด และ ตัดหน้ากระชั้นชิด คิดเป็นถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ถนนของแขวงทางหลวง รองลงมา ได้แก่ ถนนในอบต./หมู่บ้าน และถนนทางหลวงชนบท ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต จำนวน 10 ราย เป็นเพศชาย มีภูมิลำเนานอกเขตจังหวัด จำนวน 7 ราย และเป็นผู้ขี่รถจักรยานยนต์ ช่วงเวลาการเกิดเท่ากันในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน พฤติกรรมเสี่ยงหลัก เกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเกิดบนถนนทางหลวง
นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้เสียสละเวลาในการปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน ที่เดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 รวมถึงเน้นย้ำว่า เรายังต้องเพิ่มความเข้มข้นให้ความสำคัญกับการปรับกลยุทธ์ให้ตรงกับสภาพการณ์ของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น การสร้างการรับรู้ถึงอันตรายของการขับรถด้วยความเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ขี่รถจักรยานยนต์ ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย เมื่อเกิดเหตุจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงถึงเสียชีวิต รวมถึงอาจต้องกลายเป็นผู้พิการ ติดเตียง และยังส่งผลต่อเนื่องเป็นภาระทั้งในด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของตนเอง คนในครอบครัว สังคมโดยรวม รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษา เยียวยาและจ่ายค่าเบี้ยดำรงชีพในแต่ละปีเป็นงบประมาณจำนวนมาก
อีกทั้งการใช้กลไก “ด่านชุมชน” จะเป็นกลไกสำคัญในการป้องปรามผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ ดื่มแล้วขับ ไม่ให้ออกมาขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งเมื่อดื่มแล้วขับ ก็จะขับรถด้วยความเร็ว ประกอบกับไม่สวมหมวกนิรภัยด้วยแล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนจึงส่งผลให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียชีวิตใน 3 ลำดับแรก อยู่ในช่วงอายุ 20 – 49 ปี นั้นเป็นช่วงวัยกำลังศึกษาและวัยแรงงานสำคัญของระบบเศรษฐกิจและสังคม เราต้องจริงจังในการป้องกันปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดนครปฐม แม้ในช่วงการดำเนินงานปกติ ไม่เพียงแต่ในช่วงเทศกาลสำคัญปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น
ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดนครปฐม จะนำสถิติและข้อมูลที่ได้ทั้งหมดไปถอดบทเรียนโดยละเอียด และถือเป็นภารกิจที่สำคัญให้ทุกหน่วยงานหลักด้านความปลอดภัยทางถนนได้ระดมความคิดในการร่วมกันถอดบทเรียนการปฏิบัติหน้าที่ในเทศกาลนี้ เพื่อจะได้นำบทเรียน ทั้งมาตรการที่ส่งผลให้ดำเนินการสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และข้อจำกัด อุปสรรคสิ่งที่ต้องเติมต่อให้เกิดความสมบูรณ์ หรือขจัดปัญหาต่างๆ ให้น้อยลงด้วยมาตรการที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่ (Area Approach) เพื่อส่งผลอันเป็นประโยชน์ในการสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของชาวจังหวัดนครปฐม และผู้ที่สัญจรผ่านเส้นทางของจังหวัดนครปฐม ได้เดินทางด้วยความสะดวกและปลอดภัยอย่างสูงสุด