สุพรรณบุรี-รายงานอาการเสือโคร่งได้รับบาดเจ็บจากบ่วงดักสัตว์
ภาพ-ข่าว:มงคล สว่างศรี/นันทชัย ศิริอรุณรัตน์
จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นางสาวสาวิตรี เชื้อพงษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติพุเตย เจ้าหน้าที่จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าเขาประทับช้างและบึงฉวาก ร่วมกันช่วยเหลือเสือโคร่ง ได้รับบาดเจ็บจากบ่วงดักสัตว์ (นอกเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย) เจ้าหน้าที่ยิงยาสลบ พบว่าเป็นเสือเพศเมีย อายุไม่เกิน 7 ปี ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณข้อเท้าหน้าขวา และพบว่ามีลวดสลิงติดอยู่ จึงได้ดำเนินการตัดออกและทำความสะอาดแผล
รวมทั้งสัตว์แพทย์ได้ให้ยาฆ่าเชื้อ สารเหลวและวิตามิน ตามขั้นตอนของสัตวแพทย์ และได้เคลื่อนย้ายมาเฝ้าดูอาการและให้ยาแก้อาการสลบต่อที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย กระทั่งเสือฟื้นตัวดี จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายเสือไปรักษาต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าบึงฉวาก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนายสัตว์แพทย์ทั้ง 2 นาย เฝ้าดูอาการระหว่างการเดินทางอย่างใกล้ชิด
ล่าสุดวันนี้ ( 11 ม.ค.) นางสาวสาวิตรี เชื้อพงษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติพุเตย คณะเจ้าหน้าที่ และ ทีมสัตวแพทย์ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 (บ้านโป่ง) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี รายงาน สุขภาพ เสือโคร่ง เพศเมีย อายุประมาณ 7 ปี จากอุทยานแห่งชาติพุเตย ทาง สพ.ญ.ลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.(บ้านโป่ง) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ได้เฝ้าติดตามอาการบาดเจ็บของเสืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ทำการนำตัวมารักษาอาการบาดเจ็บจากการติดบ่วงดักสัตว์ แบบลวดสลิง บริเวณขาหน้าข้างขวา ที่นำมาดูแลรักษาชั่วคราว ก่อนปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติ
โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. แผลบริเวณขาหน้าข้างขวา มีลักษณะบวมน้อยลงจากเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 2.เสือโคร่ง สามารถลงน้ำหนักได้ ทั้งหมด 4 ขา การลงน้ำหนักขาหน้าข้างขวาเริ่มดีขึ้น ลงน้ำหนักได้มากขึ้น 3.เสือโคร่ง กินอาหาร ประเภทเนื้อหมู ได้จำนวน 3 กิโลกรัม กินอกไก่ จำนวน 1 กิโลกรัม และโครงไก่ จำนวน 2 โครง (น้ำหนัก 7 ขีด 4.เสือโคร่ง ขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ได้ตามปกติ อุจจาระและปัสสาวะ ปกติ 5.ทำการให้ยารักษาแบบกิน ยาลดปวดลดอักเสบ ยาห้ามเลือด และวิตามินบำรุง โดยวิธีการยัดใส่เนื้อหมู ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงต้องประเมินอาการวันต่อวันและรายงานต่อเนื่อง โดยมีทีมสัตวแพทย์ จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 (บ้านโป่ง)และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึง ฉวาก ดูแลอย่างใกล้ชิด