
ลำปาง-โรงไฟฟ้าแม่เมาะดำเนินการตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งของภาครัฐ
ภาพ-ข่าว:พรปวีณ์ สุรินทร์มงคล
น้ำทิ้งจากระบบการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะดีกว่ามาตรฐานปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมใหม่ปี 2568 อย่างเคร่งครัด
โรงไฟฟ้าแม่เมาะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำทิ้งอย่างเคร่งครัด โดยดำเนินการตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งของภาครัฐ เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำที่ปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2568 ที่กำหนดมาตรฐานการควบคุมโรงงานที่ต้องมีมาตรการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีการเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากจุดระบายสุดท้ายที่ Outlet Diversion Pond ทุกเดือน เพื่อนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จากผลการตรวจสอบพบว่าค่าบีโอดี (BOD) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้บ่งชี้ระดับความสกปรกของน้ำเสีย อยู่ในระดับดีกว่าค่ามาตรฐาน โดยมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่า 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินประเภทที่ 3 และตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ติดตั้งระบบวัดค่าซีโอดี (COD) และปริมาณการไหลของน้ำ (Flow Online) สามารถตรวจสอบค่าผ่านระบบเฝ้าระวังมลพิษระยะไกลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ตลอดเวลา โดยอุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการตรวจสอบค่าความคลาดเคลื่อนจากศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคเหนืออีกด้วย
น้ำทิ้งที่ออกจากระบบต่างๆ ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะผ่านการบำบัดขั้นต้นก่อนที่จะผ่านไปยังระบบบำบัดรวม ดังนี้ กระบวนการบำบัดทางกายภาพ (Settling Pond)เป็นการบำบัดเบื้องต้น บำบัดน้ำทิ้งเฉพาะในส่วนของระบบผลิต เช่น การปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของน้ำจากโรงงานผลิตน้ำ และการใช้ระบบตะกอนเร่งด้วยแบคทีเรีย (Activated Sludge) ในน้ำทิ้งจากอาคารที่ทำการ ซึ่งน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดเบื้องต้นจะถูกตกตะกอนแยกของแข็งในบ่อพักเพื่อลดปริมาณสารปนเปื้อน และลดอุณหภูมิ ก่อนจะบำบัดในขั้นตอนต่อไปกรณีน้ำขี้เถ้า (Ash Water) จะถูกพักให้ตกตะกอนแล้วหมุนเวียนบางส่วนกลับมาใช้ใหม่สำหรับหล่อเย็นขี้เถ้าใต้เตา
กระบวนการบำบัดทางชีวภาพ (Bio-Wetland) น้ำทิ้งที่ผ่านการตกตะกอนจะถูกบำบัดโดยใช้พืช เช่น ผักตบชวา ผักบุ้ง สาหร่ายหางกระรอก (พืชลอยน้ำ) และธูปฤาษี พุทธรักษา (พืชปลูกบนดิน) เพื่อดูดซับความขุ่น สารปนเปื้อน และโลหะหนัก ก่อนบำบัดในขั้นสุดท้าย
บ่อพักขั้นสุดท้าย (Stabilization Pond/Diversion Pond) น้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดทั้งหมดจะถูกพักในบ่อสุดท้ายเพื่อชะลอตัวและปรับสภาพสมดุลทางนิเวศวิทยา ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
โรงไฟฟ้าแม่เมาะดำเนินงานภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2568 ที่กำหนดให้โรงงานต้องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 ว่าด้วยมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน และ กฎกระทรวง พ.ศ. 2555 ที่กำหนดให้โรงงานต้องเก็บสถิติและรายงานผลการบำบัดน้ำเสียต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าแม่เมาะมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ