นครศรีธรรมราช-เทียบฟอร์ม “สุนทร-กระวี”ใครเหนือชั้นกว่า ลงชิง สส.เขต 8 

นครศรีธรรมราช-เทียบฟอร์ม “สุนทร-กระวี”ใครเหนือชั้นกว่า ลงชิง สส.เขต 8 

ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร

            ถ้าผลของคดีเป็นไปในทางบวกในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ก็ขอแสดงความยินดีกับ “มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล” สส.เขต 8  พรรคภูมิใจไทย ที่ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กล่าวหามุกดาวรรณทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2566

           แต่ถ้าผลทางคดีออกมาเป็นลบก็ขอแสดงความเสียใจต่อมุกดาวรรณ ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง สส.หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ที่อาจจะยาวนานถึง 10 ปี และต้องจ่ายค่าจัดการเลือกตั้งใหม่อีกหลายล้าน พร้อมกับการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง กกต.ก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง

            กล่าวสำหรับพรรคภูมิใจไทยยังถือว่าเป็นพรรคทางเลือกของคนใต้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงแต่ว่า พรรคภูมิใจไทยส่งส่งใครลงรักษาฐานตรงนี้ไว้ ถ้าเล็งไปในสายของ “เลื่องสีนิล” ก็จะมีไสว เลื่องสีนิล เป็นตัวเลือกส่งเข้าประกวด แต่บทบาททางการเมืองในฐานะเป็นครู ยังถือว่าไม่โดดเด่นมากนัก แต่มุกดาวรรณก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอคนของตัวเองเข้าแข่งขัน

            แข่งขันกับใคร…ในสายตาผมมีอยู่ 2 คน คนแรก คือ กระวี หวานแก้ว อดีต สจ.ฉวาง คนย่านกะเบียด ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สว.ณัฐกิตติ์ หนูรอด เป็นคนทำข้อมูล ชงข้อมูลให้กับ สว.ณัฐกิตติ์ เพื่อนำไปหารือในสภา หรือประสานส่วนราชการในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

           กล่าวถึง สจ.กระวี ทำหน้าที่อยู่ในสภาฯอบจ.นครศรีฯร่วม 7 ปี ช่วงเป็น สจ.ก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อยู่ไม่น้อย เท่าที่ประมวลได้ และนำมาเสนอ เช่น 1.เรื่องการพัฒนาเขาศูนย์ให้เป็นเหล่งท่องเที่ยว “จุดชมวิวทะเลหมอก “ของ จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ ถ้าย้อนไปในอดีตเขาศูนย์เป็นแดนสนธยา กับการเปิดศึกแย่งชิงกันจองพื้นที่ขุดหาแร่แบบไม่มีสัมปทาน เป็นฐานที่ตั้งของคนอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐ ประชาชนเปิดฉากสู้รบกันเอง เพื่อแย่งพื้นที่ขุดหาแร่ จนรัฐบาลต้องประกาศปิดเขาศูนย์ เขาศูนย์อากาศดี ไม่แตกต่างจากคีรีวง จึงได้รับรู้การพัฒนาและยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ทุกวันนี้มีจุดให้ชมทะเลหมอก มีรีสอร์ตเกิดขึ้นมากมาย

             2.เรื่องการบริหารจัดการน้ำ (น้ำแล้ง และน้ำท่วม)จากอ่างเก็บน้ำคลองกะทูน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะกินพื้นที่ ฝั่งตะวันตก-ฝั่งเหนือของนครศรีธรรมราชทั้งหมด (พิปูน ฉวาง ช้างกลาง นาบอน ถ้ำพรรณรา และทุ่งใหญ่ ไปต่อเขต จ.สุราษฏร์ธานี 3.เป็นผู้เสนอและติดตามการของบประมาณโครงการขยายถนนสาย 4015 นครศรีธรรมราช- สุราษฎร์ธานี สายใน( นครศรีฯ- บ้านส้อง)เพราะเป็นถนนสายสำคัญ ที่ผ่านมาทางลานสกา แหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย คือ บ้านคีรีวง ไปยังช้างกลาง (เขาธง เขาเหมน วิวาห์ในม่านหมอก) ฉวาง พิปูน ต่อเขต อ.เวียงสระ ถนนเส้นนี้ สำคัญสำหรับการท่องเที่ยว และการขนส่งพืชผลทางการเกษตรเช่นผลผลิตทุเรียน ไม้ยางพารา
            ซึ่ง อ.พิปูน ถือว่าผลิตผลไม้ทุเรียนที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อยประดับประเทศและมีปริมาณมากที่สุดใน จ.นครศรีธรรมราชหรือภาคใต้ เชื่อมต่อไปยัง แหล่งท่องเที่ยวอื่นใน อ.พิปูน ต้นน้ำตาปี แหล่งน้ำจืดที่สะอาดที่สุดในประเทศไทย ไปวัดพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ จันดี และไปยังจุดชมวิวทะเลหมอก เขาศูนย์ ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง บนยอดเขาศูนย์ กำลังก่อสร้าง รูปหล่อ พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถนน 4015 ยังเชื่อมต่อไปยัง อ.เวียงสระ สุราษฎร์ธานี อีกด้วย

             4.โครงการเชื่อมต่อถนนสาย 4189 อ.พิปูน- อ.นบพิตำ ข้ามเทือกเขาหลวง นครศรีธรรมราช ซึ่งเป๋นถนนสายพระราชดำริ ที่มีการใช้งานสัญจรไปมาอยู่ก่อนแล้วจนถึงปี 2531 ได้เกิดภูเขาถล่ม ทะเลโคลนและไม้ซุงมาปิดกั้นเส้นทาง ในพื้นที่ อ.พิปูน ถนนก็ไม่ได้มีการใช้งานตั้งแต่บัดนั้นะเป็นต้นมา ซึ่งตอนนี้มีการรื้อฟื้นถนนเส้นนี้ เพื่อให้กลับมาสัญจรไปมาอีก แค่ต้องมีขั้นตอนของอุทยานแห่งชาติเขาหลวงที่เขาเป็นเจ้าของพื้นที่เหล่านี้คือผลงานอันเป็นฝีมือของ สจ.กระวี ที่ควรได้รับการพิจารณา และให้โอกาสคนพื้นที่ได้ทำงาน

            คนที่สองคือสุนทร รักษ์รงค์ อดีตนักศึกษากิจการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยทำหน้าที่ผู้จัดการวงมาลีฮวนน่า วงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดัง จากนักศึกษากิจกรรมก็เดินเข้าสู่นักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง จับงานด้านการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา และชาวสวนปาล์ม กับการผลักดัน “สวนยางยั่งยืน” ปลูกพืชชนิดอื่นเสริมในร่องยาง สร้างรายได้ใหม่จากนักกิจกรรมนักศึกษาในรั้วมหาลัยสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะประเด็นสิทธิของเกษตรกร ทั้งเรื่องยาง ปาล์ม ที่ดินทำกิน หนี้สิน และอื่นๆ

            ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.เขต 8 นครศรีฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมา 18000 กว่าคะแนน แต่พ่ายแพ้ให้กับมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล วันเวลาเปลี่ยนไป สุนทรเข้ามาสังกัดพรรคภูมิใจไทย เมื่อมาเป็นนักการเมือง ต้องกล้านำเสนอนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหา โดยวิธีการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานของ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงานฯ เข้าใจว่าน่าจะมีภารกิจในการร่วมกันยกร่างนโยบายด้านการเกษตร เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า เช่น นโยบายยางพารา นโยบายปาล์ม เป็นต้น

              “หมดยุคการกำหนดนโยบายจากบนลงมาข้างล่าง โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม เพราะผู้มีส่วนได้เสียต้องออกแบบและกำหนดอนาคตของตนเอง ต้องสร้างอำนาจกำหนดใหม่ให้ประชาชนก่อน จึงสามารถใช้วาทกรรม “การทำงานการเมืองที่ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชน”

             เส้นทางการต่อสู้ของสุนทรลูกชาวบ้าน จากแกนนำประท้วงราคายางข้างถนน สู่อดีดบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกตั้งจากชาวสวนยางทั่วโลกเป็นอดีตบอร์ดยางระดับสากล(GPSNR) 2 สมัย มีโอกาสได้ประชุมในเวทีระดับสากล ที่ประเทศสิงคโปร์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ อีกทั้งยังได้รับโอกาสให้เป็นประธานร่วม(CO-Chairman) ของ GPSNR ในปี 2567

              สุนทรจึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง สิ่งที่ภาคภูมิใจคือการเอาพี่น้องชาวสวนยางชายขอบ หรือชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และคนกรีดยาง เข้าสู่ระบบ นั่นคือสามารถขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยได้ เป็น “เกษตรกร”ได้ในเวทีระดับสากล เมื่อมีข้อกำหนดของ EU ที่เรียกว่า EUDR ไม่รับซื้อยางจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ก็ต่อสู้ด้วยข้อกฎหมายว่า หลังมติ ครม.26 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยไม่มีสวนยางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ยังวัดแปลงไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของชาวสวนยาง รัฐให้สิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว ถ้าผลทางคดีออกมาในทางลบสำหรับมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล “สุนทร-กระวี” จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมของพรรคภูมิใจไทย ถ้าตัดกันด้วยดีเบตสู้สุนทรไม่ได้ แต่กระวีเหนือกว่าในแง่ของคนในพื้นที่

CATEGORIES
Share This
error: Content is protected !!