ประจวบคีรีขันธ์-สสอ.หัวหิน คุมเข้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หวังลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ประจวบคีรีขันธ์-สสอ.หัวหิน คุมเข้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หวังลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

           เมื่อวันที่ 8 เม.ย.68 นายเจนวิท ผลิศักดิ์ สาธารณสุขอำเภอหัวหิน จ.ประจวบฯ โดยคณะทำงานหน่วยปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับอำเภอ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ ร.พ.หัวหิน ปกครองอำเภอหัวหิน สรรพสามิตจังหวัดประจวบฯ สาขาหัวหิน เทศบาลนครหัวหิน สภ.หัวหิน ร่วมลงพื้นที่ปฏิบัติงานการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ตรวจเตือนการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ลดแรงสนับสนุนการดื่ม ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ
          โดยเน้นการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หากเกิดอุบัติเหตุและมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดต้องมีการสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ทุกกรณี การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ การขายตามช่วงเวลาที่กำหนด ห้ามส่งเสริมการขายทุกประเภท ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ที่กฎหมายกำหนด โดยในวันนี้ลงตรวจสถานประกอบการร้านค้าในพื้นที่อำเภอหัวหิน ทั้งหมด 10 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
           นายเจนวิท ผลิศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะคงยึด 4 มาตรการหลักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ 1) มาตรการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ 2) มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ 3) มาตรการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน และ 4) มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้แนวคิด 3 ต “ตระเตรียม – ติดตาม – ตักเตือน” โดยประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ดำเนินมาตรการเข้าถึงชุมชนแบบ “เคาะประตูบ้าน” รณรงค์มาตรการ “3 ต” เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับครัวเรือนเป้าหมายในการดูแล ทั้งนี้จากข้อมูลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 2,044 ครั้ง (ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 7.22)
           โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2,060 คน และเสียชีวิต จำนวน 287 คน ซึ่งดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 22.7 ลดลงจากปี 2566 รถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ และข้อมูลจากระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กระทรวงสาธารณสุข (PHER Plus) พบว่า อัตราผู้ใช้รถใช้ถนนดื่มขับล้มเอง (บาดเจ็บและเสียชีวิต) จากอุบัติเหตุทางถนนภาพรวมทั่วประเทศ เทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 พบว่า รถจักรยานยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 91.32 เป็นผู้ที่ดื่มแล้วขับ และพบว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ดื่มแล้วขับเกิดอุบัติล้มเอง จำนวน 2,160 ราย (ร้อยละ 46.94 ของจำนวนจักรยานยนต์ที่ดื่มแล้วขับ)

CATEGORIES
Share This
error: Content is protected !!