อุบลราชธานี-อุโบสถเรืองแสงวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว

อุบลราชธานี-อุโบสถเรืองแสงวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว

ภาพ-ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดอุบลราชธานี

               ไปเที่ยววัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ชมความสวยงามของอุโบสถเรืองแสง พร้อมกราบไหว้ขอพรพระพุทธภาวนาฐิติวโรบล และรูปเหมือนพระบูรพาจารย์ชื่อดัง และชมวิวไทย-ลาว
ความเป็นมาของวัด การสร้างอุโบสถ และพระพุทธรูปสำคัญของวัดสิรินธรวรารามภูพร้าวตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีดังนี้ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๕ – ๒๔๙๘ พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ ภิกษุชาวลาว ได้ธุดงค์จากจำปาสักมาปักกลดที่ภูพร้าว และได้พาญาติโยมบ้านแก่งยางมาดูสถานที่ภูพร้าว แล้วบอกญาติโยมว่า “สถานที่แห่งนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญจิตภาวนา” ท่านได้สร้างศาลาขึ้น ๑ หลัง ฝังศิลากำหนดเขตสีมาไว้ อธิษฐานขอสร้างเป็นวัดขึ้น ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่ให้เป็นวัดจากทางหน่วยทหารและทางราชการของอำเภอพิบูลมังสาหาร ทางราชการอนุญาตให้ใช้ เนื้อที่สร้างวัดประมาณ ๕๐๐ ไร่ ครั้งนั้น ชื่อว่า “วัดภูพร้าว” หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์บุญมากเทียวไปมาระหว่างจำปาสักกับวัดภูพร้าว จนถึงปีพ.ศ. ๒๕๑๖ วัดก็ถูกปล่อยรกร้างเกือบยี่สิบหกปี ท่านมรณภาพ ที่วัดภูมะโรง จำปาสัก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔
            ภายหลังทางบ้านเมืองได้แบ่งเขตการปกครองขึ้นใหม่ ตั้งเป็นอำเภอสิรินธร โดยให้แยกออกจาก อำเภอพิบูลมังสาหาร วัดภูพร้าวได้เปลี่ยนชื่อไปตามการแบ่งเขตนั้นเป็น “วัดสิรินธรวราราม” จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๒ พระครูกมลภาวนากร (สีทน กมโล) ลูกศิษย์ของพระอาจาย์กิและพระอาจารย์บุญมาก ได้นำพาคณะพระสงฆ์ อุบาสก-อุบาสิกาจากวัดภูหล่นมาบูรณะวัดสิรินธรวรารามแห่งนี้ขึ้น ก่อสร้างมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ชื่อว่า “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” พระครูกมลภาวนากรละสังขารในปี ๒๕๔๙ และพระครูปัญญาวโรบล (ปริญญา ติสสฺวโร) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส จนถึงปัจจุบัน(๒๕๖๘)

             การสร้างอุโบสถสิรินธรวรารามภูพร้าว ในช่วงที่พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ จำพรรษาที่วัดภูพร้าว จะมีก็เพียงเสนาสนะชั่วคราวเท่านั้น พระอาจารย์สีทนจึงได้บูรณะสถานที่ เสนาสนะ และสร้างอุโบสถขึ้นตามลำดับ การออกแบบอุโบสถ ท่านมีความดำริที่จะประยุกต์ศิลปะยุคล้านนากับล้านช้าง ให้เข้ากันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำโขงเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับพุทธศาสนิกชนชาวไทย-ลาว
              โดยมีหลายภาคส่วนร่วมในการดำเนินการ ดังนี้ ๑.งานออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมโครงสร้างอุโบสถ (๒๕๔๘) โดยนายธรายุ ลือเจียงคำ สถาปนิค บริษัทไทท่า แอสโชชิเอท จำกัด ๒.งานออกแบบลวดลาย ช่อฟ้า เชิงชาย ป้านลม คันทวย และระเบียงนาค เอวขันธ์ (๒๕๔๙) โดย นายสมบัติ หมื่นสวัสดิ์ อาจารย์ประจำแผนกวิชาศิลปศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ๓.งานออกแบบลวดลาย หน้าบันรวงผึ้ง ประตู และงานปูนปั้นต้นโพธิ์หลังพระประธาน ต้นกัลปพฤกษ์หลังอุโบสถ (๒๕๕๐) โดยนายเทวัญ นันทวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตธัญญบุรี นางสาวณวลพักตร์ พิมลมาศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๔.งานออกแบบทางด้านปฎิมากรรม กินรี พื้น บันได หินเทียม และไฟแสงสว่าง โดยนายคณากร ปริญญาปุณโณ ๕.งานรากฐาน โครงสร้าง และงานสถาปัตยกรรม ทีมช่างสมบัติ จังหวัดนครปฐม และทีมช่างเบิด อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี (๒๕๔๘) ๖.งานไม้แกะสลัก ๖.๑ช่อฟ้า โดย ร้านอภิชาติ บางโพธิ์ กรุงเทพมหานคร ๖.๒เชิงชาย ป้านลม ดอกประจำยาม โดย นายขุนแผน ปิ่นวัฒนา บ้านนาสะไม จังหวัดยโสธร ๖.๓อกปิดจั่ว โดย นายเฉลิมพล ประทุมวัน บ้านนาสะไม จังหวัดยโสธร ๖.๔คันทวย หน้าบัน รวงผึ้ง ประตู โดย นายเกรียงไกร เจริญบุตร บ้านนาสะไม จังหวัดยโสธร
              ๗.งานปูนปั้น ๗.๑เอวขันธ์ ระเบียงนาค รวงผึ้งปูน และคานรอบอุโบสถ โดยนายไชยพิชิต เกิดผล วัดภูพร้าว-วัดภูหล่น ๗.๒กินรี กินนร หินเทียม ต้นโพธิ์หลังพระประธาน ต้นกัลปพฤกษ์หลังอุโบสถ เสาไฟยอดถั่ว โดย นายคณากร ปริญญาปุณโณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตคลอง ๖ และ ๘.งานประดับไฟ โดย คุณวราสิทธิ์ สารบาญ บ้านป๊อกฟาร์ม อำเภอพิบูลมังสาหาร ๙.งานลงสี ปัดทอง โดย นายคณากร ปริญญาปุณโณ นายไชยพิชิต เกิดผล นายไกรชนินทร์ จันทร-เวโรจน์ วัดภูพร้าว ๑๐.งานลงลายเสา โดยนายบุรินทร์ นุตวงษ์ นายณัฐดนัย เพ็งแจ่ม นายฐิรวัฒน์ คุณีพงศ์ กลุ่มเพาะช่าง ๑๑.ลงลายเสาประดับกระจก (บูรณะใหม่ ๒๕๖๗) โดย นายอำคา สุวรรณเพชร ศิลปินอิสระ ๑๒.งานหินเทียมรอบอุโบสถ โดย นายคณากร ปริญญาปุณโณ และทีมงานวัดภูพร้าว ๑๓.งานสีเรืองแสง เทพื้นรอบอุโบสถ สระอโนดาต (ชุดปฐมฤกษ์) นายพงษ์พันธุ์ ติยะวนิช บริษัทอุบลวารีเทพ พลตำรวจตรีอภิศักดิ์ เดชะคำภู อดีตรองจเรตำรวจ (สบ๗) ปฎิบัติราชการตำรวจภูธร ภาค ๓

               องค์ประกอบของอุโบสถวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ไตรภูมิกถา “ณ ศูนย์กลางแห่งจักรวาล เด่นตระหง่านด้วยเขาพระสุเมรุ หนึ่งบนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีอินทรเทพเป็นเทวราช ผู้อภิบาลโลกและพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์ตลอดจนสรรพสัตว์ มีต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้แห่งสวรรค์และสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูนสุข” วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว สร้างตามคติความเชื่อในไตรภูมิกถา บริเวณวัดเปรียบดังยอดเขาสุเมรุ ประดิษฐานอย่างสง่างามด้วยอุโบสถศิลปะล้านนาและล้านช้าง ณ ผนังด้านหลังอุโบสถ เรืองแสงด้วยต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งสื่อถึง “ต้นไม้แห่งชีวิต” เขตพัทธสีมารอบอุโบสถจัดสร้างเพื่อแสดง “เขตขันฑสีมา” แบ่งเป็นส่วน ๆ สื่อถึงธาตุพื้นฐาน ได้แก่ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ และเตโชธาตุ หากหลอมรวมธาตุทั้งสี่ด้วยสมดุล จะเกิดมหัศจรรย์แห่ง อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ อันได้แก่ธาตุ ๖ แห่งการรับรู้
              บริเวณพื้นที่ทิศตะวันตกของอุโบสถ จัดพื้นที่เป็นสระอโนดาต ซึ่งเป็นสระที่อยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชองสัตว์หิมพานต์ทั้งหลาย หลากหลายสายพันธุ์ ความอุดมคติ สื่อถึงวัฏสังสาร แห่งทุกข์ สุข เสื่อม และเจริญของสรรพสิ่ง ตามหลักธรรม “กุศลกรรมบถ ๑๐” แห่งพระพุทธศาสนา ตำแหน่งอุโบสถ จำลองให้เป็นแกนกลางของธาตุ ๔ และกำหนดผังบริเวณวัดให้สื่อถึงแนวคิดบทบาทของภาระงาน

             การพัฒนาคนด้านจิตวิญญาณ ดังนี้ บท ๑ วายุธาตุ : ไพรมณีเวชแห่งเขาไกรลาส มีลักษณะเคลื่อนไหวและเคร่งตึง เป็นงานสร้างหุ่นจำลองตามชื่อตำรับยาพื้นบ้าน โดยผสมผสานงานศิลป์สาขาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับงานส่งเสริมด้านวัฒนธรรม อาทิ ประติมากรรมลอยตัวประดับมณีแก้ว “หนุมาน ชาญสมร” แนวทางแห่งการปฏิบัตินี้ คือ “วัฒนมัคคุเทศก์” บท ๒ อาโปธาตุ : สระอโนดาด มีลักษณะไหลและเกาะกุม เพื่อสร้างพลังงานเชิงบวกก่อเกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตแก่ผู้มาเยือน เป็นที่หย่อนใจคลายเครียด ลดทุกข์ ทั้งนี้การออกแบบการสร้าง สรรค์ผลงานในสระอโนดาต เป็นความร่วมมือร่วมใจของศิลปินอาสาหลากสาขา อาคารจำลองจักรวาล วัตถุที่ระลึกเรืองแสง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ แนวทางแห่งการปฏิบัตินี้ คือ สะดือป่าหิมพานต์
              บท ๓ ปฐวีธาตุ : เสนาวานรทหารเอกแห่งทัพพระราม มีลักษณะแข็งและอ่อน เป็นงานสร้างนวัตกรรมการใช้สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน ให้ดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวได้ ทั้งนี้หมอพื้นบ้านและตำรับยาหมอพื้นบ้าน วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข นำไปสู่โครงการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ คลินิกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งบูรณาการการแพทย์ปัจจุบัน การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภูมิปัญญาทางการแพทย์ในอดีต ในรูปแบบหมอพื้นบ้าน แนวทางและการพัฒนานี้ คือ “วิถีแห่งชีวิต”
บท ๔ เตโชธาตุ : โสตรังสี มีลักษณะร้อนและเย็น เป็นบทสรุปจากงานอุดมคติสู่งานทางพุทธศิลป์ อาทิ จำลองอุโบสถประหนึ่งว่าประดิษฐานบนยอดเขาพระสุเมรุ จำลองฝายชะลอน้ำเป็นสระอโนดาต จำลองเรื่องราวทั้งหลายผ่านตัวละครต่าง ๆ ในวรรณคดี ประกอบด้วยคลื่นแสง สี เสียง ในหิมพานต์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่หลากหลาย เสริมพลังงานแห่งชีวิตให้แข็งแกร่ง แนวทางแห่งการปฏิบัตินี้ คือ “มโนวิญญาณ” เมื่อธาตุ ๔ ครบองค์ประกอบ เกิดสมดุล สติรับรู้ ผู้รู้ องค์ความรู้ ภาระงาน พร้อมขับเคลื่อนต่อไป ด้วยอากาสธาตุและวิญญาณธาตุ

              บท ๕ อากาสธาตุ : สมดุลธรรมชาติ เป็นพันธะที่เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ให้สอดคล้องตามภาวะธรรมชาติ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เปิดรับสาธุชนจากทุกสารทิศ หมุนเวียนสู่สถาน วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ในมิติที่หลากหลาย แนวทางแห่งการปฏิบัตินี้ คือ ศรัทธา บท ๖ วิญญาณธาตุ : สมดุลชีวิต พิจารณาธาตุ ๔ ด้วยปัญญา พิจารณาการดำรงอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างผู้รู้ วัฏฏะแห่งกองทุกข์ เจริญและเสื่อมตามหลักธรรม ไม่เที่ยงแท้ สามารถสร้างองค์ความรู้ เกิดกำลังใจ ใต้สำนึกที่ดี แนวทางแห่งการปฏิบัตินี้ คือ “จิตตภาวนา”
               พระพุทธรูปประจำอุโบสถ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว มีนามว่า “พระพุทธภาวนาฐิติวโรบล” ปางมารวิชัย ซึ่งความหมายของพระนาม คือ “พุทธในดวงจิตส่งชีวิตให้ประเสริฐสุด”พระพุทธ คือ ท่านผู้ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง แล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจ ตามพระธรรมวินัย ภาวนา คือ การทำให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นทางจิตใจ ฐิติ คือ การดำรงอยู่หรือการมีชีวิตอยู่ วโรบล คือ ประเสริฐสุด

                ความเป็นมา ในสร้างอุโบสถพร้อมถวายพระประธานวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ คณะศรัทธาเจ้าภาพสโมสรโรตารีพระสมุทรเจดีย์ ภาค 3330 โรตารีสากล นำโดยคุณพัชรี โพธิ์นคร นย.จิตติ-คุณวิไล พงศ์กุศลจิตต์ คุณณรงค์ จาติเกตุ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างอุโบสถพร้อมถวายพระประธาน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ประดิษฐานพระพุทธชินราช ปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะ ขนาดหน้าตัก ๒.๕๐ เมตร สูง ๓.๑๐ เมตร ไว้ ณ อุโบสถวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีการตกแต่งงานพุทธศิลป์โดยการนำซุ้มเรือนแก้วออก และตกแต่งงานปูนปั้นต้นโพธิ์ประดับไฟ ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ปิดทองพระประธานครั้งที่ ๑ นำโดยพระครูโสภณธรรมสโรช เจ้าอาวาสวัดป่าหัวดอน และพระครูใบฎีกาสมพงษ์ โกสโล เจ้าอาวาสวัดดอนธาตุ พร้อมคณะสงฆ์ ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ปิดทองพระประธานครั้งที่ ๒ นำโดยพระครูโสภณธรรมสโรช เจ้าอาวาสวัดป่าหัวดอน และพระครูใบฎีกาสมพงษ์ โกสโล เจ้าอาวาสวัดดอนธาตุ พร้อมคณะสงฆ์ และได้ปรับเปลี่ยนพระเกศรัศมีเปลวเพลิง เป็นพระเกศบัวตูม

                 โดยพระเกตุเปลวเพลิง หมายถึง เผาผลาญกิเลส พระเกตบัวตูม หมายถึง พุทธิปัญญา ด้วยการนำหยกเหลืองมาแกะสลัก ความหมายของ หยกเหลือง (Yellow Gade) เป็นหินที่จัดอยู่ในธาตุไฟ เชื่อว่าจะนำพาพลังแห่งความโชคดีและการเสริมสร้างสมดุลชีวิต ช่วยเพิ่มพลังงานบวกและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทำให้รู้สึกสดชื่นและสงบในเวลาเดียวกัน นำโดยพระครูปัญญาวโรบล และนายเอกรินทร์ วรรณเวศ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุบลราชธานี พร้อมคณะเจ้าภาพศรัทธา

                 พระพุทธรูปประดิษฐาน ณ หอบูรพาจารย์ ภายในวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว มีพระพุทธรูปประจำ หอบูรพาจารย์ศาลา ๓ หลัง มีพระนามว่า “พระพุทธสัมฤทธิ์สีทันดร” มีความเป็นมา ดังนี้ วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ พระครูกมลภาวนากร ได้นำพาคณะศิษยานุศิษย์มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ซึ่งในปีนั้นพระสงฆ์จำเป็นต้องสัตตาหะหมุนเวียนระหว่างวัดภูหล่นมาวัดภูพร้าวเพราะเป็นช่วงเข้าพรรษาพอดี เมื่อถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โยมมณี ดาวกระจ่าง ได้นำพระพุทธรูปปางประธานพรมาถวายเพื่อประดิษฐาน ณ ศาลาการเปรียญเป็นองค์แรก

CATEGORIES
Share This
error: Content is protected !!