สุพรรณบุรี-ประเพณียกธงสงกรานต์ตำบลหนองกระทุ่มคึกคัก

สุพรรณบุรี-ประเพณียกธงสงกรานต์ตำบลหนองกระทุ่มคึกคัก

ภาพ-ข่าว:มงคล สว่างศรี/ณัฐพล กันทะนิด

          พระครูใบฎีกาอาทิตย์ อินฺทมุนี เจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม (หรือหนองถ่ม) ร่วมกับเทศบาลตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน วัดหนองกระทุ่มและประชาชนตำบลหนองกระทุ่ม ชาวลาวครั่งในตำบลหนองกระทุ่ม ร่วมกันจัดงานประเพณียกธงสงกรานต์ และปีใหม่ไทย
          โดยมีนายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส.สุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งมีนางสาวรุ่งรัตน์ เพ็งสวย ผู้อำนวยการกองการศึกษา รักษาราชการแทนปลัดเทศบาลตำบลหนองกระทุ่ม ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลหนองกระทุ่ม กล่าวรายงาน เพื่อการอนุรักษ์ และส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวตำบลหนองกระทุ่ม ประเพณียกธงสงกรานต์ มีกลุ่มแม่บ้านและ ทุกๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมงานกันอย่างคึกคัก
           โดยจัดให้มีกิจกรรมสรงน้ำหลวงพ่อบุญ พระสงฆ์ สามเณร แสดงความเคารพบูชา รดน้ำดำหัวขอพร ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการแสดงความรัก ความเคารพ และเป็นการขอพรให้ลูกหลานได้มีความสุขความเจริญ จากนั้นขบวนแห่จากหมู่บ้านหนองกระทุ่ม มายังวัดหนองกระทุ่ม สำหรับประเพณียกธงสงกรานต์ของชาวหนองกระทุ่ม ทั้ง 9 หมู่บ้าน โดยจัดขบวนนางรำสวยงาม ขบวนแห่ธงที่ประดับอย่างสวยงาม การฟ้อนรำกลุ่มแม่บ้านหลายหมู่บ้านมารวมเป็นหนึ่งคือ “หนองกระทุ่ม” แต่งกายด้วยชุดผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม
           ส่วนไฮไลท์อยู่ที่ประเพณีแห่ธง ซึ่งจะใช้เสาธงลำไม้ตรงและยาว ของชาวบ้านหมู่บ้าน 9 หมู่บ้าน และยังมีคันธงของศิษย์วัดหนองกระทุ่งอีก 1 คันธง รวมแห่ธงจำนวน 10 คันธง จะใช้ผู้ชายแข็งแรงมาร่วมแรงร่วมใจกันแห่ธงรอบอุโบสถ์ 3 รอบ ก่อนทำการยกคันธงไปปักให้ลงหลุมของหมู่บ้านตนเอง ส่วนผู้หญิงเป็นกองเชียร์ บางรายเอาเสาธงขึ้นได้แล้ว แต่ลืมติดธงต้องเอาเสาคันธงลงมาติดธงก่อน แล้วจึงปักเสาคันธงให้ลงหลุมใหม่อีกครั้ง บางหมู่บ้านปักธงผิดหลุมต้องย้ายเสาคันธงไปปักหลุมของหมู่ตนเอง สร้างความสนุกสนานให้ชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก เป็นการสร้างความรักความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจของชุมชน ประเพณียกธง สงกรานต์ของชาวตำบลหนองกระทุ่ม เพื่อสืบสานประเพณีของชาวชุมชน ยังคงอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน
           นอกจากนั้นยังแฝงความเชื่อ เรื่องของการเสี่ยงทายเกี่ยวกับการทำมาหากิน โดยมีความเชื่อว่า หากการ จัดทำธง การแห่ธง โดยเฉพาะการตั้งธง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และธงที่ตั้งไว้โบกสะบัด สวยงาม เชื่อกันว่าการทำไร่ทำนาในปีนั้นจะได้ผลผลิตดี น้ำท่า ข้าวปลาอาหารจะอุดม สมบูรณ์ ชาวบ้านตำบลหนองกระทุ่ม จึงได้อนุรักษ์ประเพณียกธงสงกรานต์ให้คงไว้สืบต่อไป ช่วงยกธงเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ รุ้งกินน้ำสวยงาม เชื่อว่าจะเกิดความเป็นสิริมงคลกับชาวบ้านทุกคน

           ด้านนายวิฑูรย์ ทวีสุข ครูโรงเรียนอนุบาลยอดไม้งาม ฐานะครู เปิดเผยว่าประเพณีสงกรานต์ของชาวลาวครั่ง ว่า พื้นที่ตำบลหนองกระทุ่ม เกิดมาเมื่อ 200 กว่าปี ของกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมมีพื้นที่รวมอยู่ในตำบลบ่อกรุ บรรพบุรุษเป็นประชากรชาวลาวได้อพยพมาจากเวียงจันทร์มาพึ่งบุญโพธิสมภาร ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – 3 จนตั้งหลักปักฐานอยู่อาศัยมาถึงปัจจุบันนี้ วัดหนองกระทุ่ม (หรือหนองถ่ม) จึงได้ร่วมกับชาวบ้านตำบลหนองกระทุ่ม (ชาวลาวครั่ง) จัดงานประเพณีสงกรานต์ของชาวลาวครั่งประจำทุกปี โดยการร่วมมือของผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ คณะกรรมการวัด ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

CATEGORIES
Share This
error: Content is protected !!