เชียงใหม่-คว้าชัย รางวัลกระทงยอดเยี่ยม การประกวดกระทงใหญ่ งานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่
ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้าชัย รางวัลกระทงยอดเยี่ยม การประกวดกระทงใหญ่ งานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2564
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้าชัย รางวัลกระทงยอดเยี่ยม การประกวดกระทงใหญ่ งานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2564 รับถ้วยเกียรติยศ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ณ ลานประตูท่าแพ โดยมี ผศ.ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้ารับรางวัล
แนวคิดในการออกแบบรถกระทง มช. “กรินทร์ปักษา นบวันทาบูชาพระธาตุ” ช้างกรินทร์ปักษา หนึ่งในตำนานช้างแห่งป่าหิมพานต์ที่มีผิวกายดำสนิท มีปีกและหางอย่างนก เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ และความอุดมสมบูรณ์ ส่วนด้านหน้าประกอบไปด้วยช้างเอราวัณที่เป็นเจ้าแห่งช้างในสากลจักรวาล มีผิวกายเผือกผ่อง เป็นสัญลักษณ์แห่งการกระทำความดี พร้อมด้วยช้างบริวารอีก 2 เชือกส่วนนำขบวนด้านหน้าและด้านหลังของขบวนรถ ประกอบไปด้วยพญานกยูงคำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองสว่างไสวดังพระอาทิตย์ที่งดงามตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ส่วนด้านข้างประกอบไปด้วยเครื่องสัตตภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งการจำลองเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อศูนย์กลางจักรวาล มาประดับตกแต่งรายล้อมด้วยกลุ่มบัวอุบลชาติ ที่มีนางนพมาศนั่งบนดอกบัวประดุจดังสวรรค์และยังมีเครื่องสัตตบริภัณฑ์มาประดับตกแต่ง เรื่องราวทั้งหมดจะผูกเรียงร้อยให้เป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี หรือบูชาพระธาตุในคติความเชื่อของชาวล้านนา การบูชาพระธาตุอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าโดยการสื่อเป็นวิมานบรรจุพระธาตุไว้ในวิมานบนหลังช้างกริณทร์ปักษา ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานของขบวนรถกระทง และยังมีการแสดง ชุด “มยุรวิลาศ เฉลิมพระธาตุเจ้า” เป็นการแสดงร่ายรำของเหล่านางฟ้าและนกยูงอย่างอภิรมย์ เพื่อเฉลิมฉลองการมาของพระธาตุเจ้าประกอบ นำเสนอให้เป็นการบูชาพระธาตุ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองที่เชื่อมโยงผสมผสานระหว่างประเพณีวัฒนธรรม และนวัตกรรมร่วมสมัย โดยรายละเอียดต่าง ๆ ถูกเพิ่มลงบนศิลปะแบบดั้งเดิมซึ่งยังคงอัตลักษณ์ไว้อย่างดี สื่อความหมายถึงเมืองเชียงใหม่ที่พร้อมจะพัฒนาก้าวไป และยังคงรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้อย่างงดงาม