เพชรบุรี-ค้าน!ออกหนังสืออนุญาตให้นายทุนใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวน
ภาพ/ข่าว:สุรพล นาคนคร
องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรยื่นหนังสือค้านผู้ว่าฯเมืองเพชร กรณีออกหนังสืออนุญาตให้นายทุนใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำเหมืองโดโลไมต์ ทั้งที่ล่าสุดตรวจพบเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด
ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,องค์กรอนาคตเพชรบุรี และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือให้ผวจ.เพชรบุรี ทบทวนการอนุญาตให้นายทุนเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่โดโลไมต์ หลังนำข้อมูลเก่านานกว่า 6 ปี มาพิจารณาอนุญาตทั้งๆที่ล่าสุดคณะทำงานของมณฑลทหารบกที่ 15 เข้าพื้นที่จริงตรวจสอบด้วยการติดกล้องดักถ่ายพบภาพสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิดหากินอย่างชุกชุม และมีข้อพิรุธหลายประการเรื่องการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
สายวันนี้ 12 มิ.ย.2563 นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี และในฐานะประธานองค์กรอนาคตเพชรบุรี รวมทั้งนายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จังหวัดเพชรบุรี (ทสม.เพชรบุรี) และตัวแทนชาวบ้านจาก 8 อำเภอในจังหวัดเพชรบุรี รวม 20 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายกอบชัย บุญอรณะ ผวจ.เพชรบุรี โดยมีนายปริทัศน์ วรรณสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม และนายอำนวย สุวรรณรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี เป็นตัวแทนรับหนังสือแทนเนื่องจากผวจ.เพชรบุรี ติดราชการ ซึ่งหนังสือฉบับดังกล่าว เป็นหนังสือกรณีมีการร้องเรียนจากชาวบ้านหมู่ที่ 6 บ้านโป่งแย้ ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และชาวบ้านหนองกระทุ่ม ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า นายวีระศักดิ์ พงษ์ภาวศุทธิ์ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โดโลไมต์ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2552 พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้คัดค้านมาตั้งแต่ต้นและรับทราบในเวลาต่อมาว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ตามหนังสืออนุญาต เล่มที่ 921 ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562
ซึ่งเมื่อตรวจสอบหนังสืออนุญาตฉบับดังกล่าว กลับพบว่า เป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามบันทึกการตรวจสอบพื้นที่ ของเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2556 ว่า ผลดำเนินการตรวจสอบสภาพป่าบริเวณพื้นที่ที่ขออนุญาต มีสภาพเสื่อมโทรมตามหลักเกณฑ์การสืบพันธ์ไม้เป็นไปตามธรรมชาติ แล้วได้ทำการสำรวจนับไม้ทั่วทั้งพื้นที่ที่ขออนุญาต (สำรวจนับได้ 100%) โดยมีไม้หวงห้ามขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง 130 เซนติเมตร ตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตร ขึ้นอยู่จำนวน 306 ต้น ไม้ขนาดความโตเกิน 100 เซนติเมตร จำนวน 9 ต้น และไม่พบสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองแต่อย่างใด นั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจาก หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉบับดังกล่าว มีระยะเวลาห่างจากรายงานบันทึกการตรวจสอบพื้นที่ที่อ้างถึง มีระยะเวลา 6 ปี 6 เดือน อันเป็นเหตุให้ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในขณะออกหนังสืออนุญาต โดยเชื่อว่า การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นเท็จ ประกอบกับมีหนังสือรายงานผลการตรวจสอบจากคณะทำงานของมณฑลทหารบกที่ 15 ด่วนมาก ที่ กห 0481.73/1036 ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2563 ว่า ผลการตรวจสอบของคณะทำงานพบว่า ในบริเวณพื้นที่ที่บริษัทฯ ขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และขอประทานบัตรทำเหมืองแร่นั้น เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ มีทั้งสัตว์ผู้ล่าเหยื่อ และสัตว์ที่เป็นอาหารหรือถูกล่า(เหยื่อ) อย่างครบถ้วน ถือได้ว่ามีระบบนิเวศน์ที่หลากหลายครบถ้วนและสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังตรวจสอบพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสัตว์อยู่หลากหลายชนิดเป็นจำนวนมาก มีทั้งสัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าสงวน จนสามารถใช้คำว่า “ชุกชุม” ได้ โดยการตรวจสอบดังกล่าว ได้ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยทำการติดตั้งกล้องถ่ายภาพสัตว์ (CAMERA TAP) ทำการบันทึกภาพสัตว์และความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
อีกทั้ง พื้นที่ในการขอทำเหมืองแร่โดโลไมต์ ดังกล่าวยังมีขอบเขตพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ หนองพลับ-กลัดหลวง อีกด้วย จึงขอให้ทางจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เล่มที่ 921 ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ของนายวีระศักดิ์ พงษ์ภาวศุทธิ์ และตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับดังกล่าวว่าเป็นเท็จหรือไม่ รวมทั้งขอคัดค้านคำขอประทานบัตร ในการทำเหมืองแร่โดโลไมต์ ในเขตท้องที่ตำบล เขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในเนื้อที่ 299 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา ด้วย เนื่องจากทราบว่า ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นไม่ครอบคลุมพื้นที่ เพราะพื้นที่การขอประทานบัตรอยู่ในเขตอำเภอท่ายางอีกด้วย
นางสาวสุมล เผยว่า ทางองค์กรอนาคตเพชรบุรี และชมรมอนุรักษ์ฯรวมทั้งเครือข่ายทสม.เพชรบุรี สงสัยว่า การพิจารณาอนุญาตให้นายทุนเข้าไปใข้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ เหตุใดจึงเอาข้อมูลรายงานสภาพป่าเสื่อมโทรมที่ทำมาก่อนหน้าอนุญาตถึง 6 ปี 6 เดือน มาพิจารณาอนุญาต โดยหลักทั่วไป ป่าเสื่อมโทรม ไม่เกิน 3 ปี ก็จะกลับมามีสภาพสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งคณะทำงานของมณฑลทหารบกที่ 15 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ทำการติดตั้งกล้องดักถ่าย พบภาพสัตว์ป่าจำนวนมากหากินอยู่อย่างชุกชุม ทั้งสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงชี้ชัดได้ว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับดังกล่าว อาจเป็นการทำรายงานเป็นเท็จก็เป็นได้ ซึ่งหลักฐานทั้งหมดเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ปฏิเสธความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่กลุ่มคนไม่กี่คนไปอนุญาตให้นายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า อันเป็นการทำลายป่าซึ่งเป็นสมบัติของชาติ แลกกับค่าภาคหลวงแร่ไม่กี่บาทที่ไม่คุ้มค่าจริงๆ จึงขอให้ดำเนินการทบทวนและยกเลิกหนังสืออนุญาตฉบับดังกล่าวโดยเร็วซึ่งตนเองจะยื่นหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการอนุญาตที่ไม่โปร่งใสในเรื่องนี้ในลำดับถัดไป
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/