นายกฯ หนุนต่อยอดOTOP อาหาร “ครัวไทยสู่ครัวโลก”
ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน
นายกฯ หนุนต่อยอด OTOP อาหาร “ครัวไทยสู่ครัวโลก” หลัง มท.1 นำคณะเข้าพบ โชว์ความสำเร็จแบรนด์ “OTOP Thai Taste” เปิดตัว 10 เมนูใหม่พร้อมทาน ภายใต้โครงการ “ยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้” ชูจุดแข็งเก็บรักษาไว้กินได้นาน ตอบรับสั่งซื้อทางออนไลน์ ยุค New Normal มุ่งหวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดครบวงจร ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ชุมชนทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 30 มิ.ย.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะฯ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางรชตภรณ์ โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เข้าพบ เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ “โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมความคืบหน้าของการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการรณรงค์ปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนมีผู้เข้าร่วมโครงการสูงเกือบ 12 ล้านครัวเรือน โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดี ควรดำเนินการให้ต่อเนื่อง ทำให้คนมีพืชผักสวนครัวทำอาหารปลอดภัยกินกันในครัวเรือน และเมื่อมีผลผลิตเหลือกินสามารถนำไปผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปตามโครงการได้ ทั้งได้แนะนำอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนว่าราชการควรมีการช่วยเหลือ กลุ่มชาวบ้าน หรือ OTOP ให้มีเครื่องมือ เครื่องจักรในการทำอาหารสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของพืชผักสวนครัวหรือพืชสมุนไพรที่แต่ละบ้านปลูกด้วย เพื่อให้ครัวไทยเป็นครัวโลกต่อไป
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันอาหารจัดทำ “โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้” โดยนำสูตรมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้จำนวน 10 เมนู มาพัฒนาเป็นสินค้าอาหารพร้อมบริโภค สะดวกต่อการรับประทาน มีการทดลองปรับปรุงสูตรการผลิตอาหารถิ่นที่ผ่านการคัดเลือก ให้เหมาะสมต่อการยืดอายุ โดยการนำเทคโนโลยีการผลิต 2 เทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ เทคโนโลยีการยืดอายุด้วยเครื่องฟรีซดราย (Freeze Dryer) หรือเทคโนโลยีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง และเทคโนโลยีการยืดอายุอาหารโดยใช้เครื่องรีทอร์ท (Retort) หรือเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อภายใต้แรงดัน ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจหากเก็บรักษาให้พ้นความชื้นและแสงแดด สามารถยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้ยาวนานกว่า 1 ปี โดยมีเป้าหมายจัดทำเป็นสินค้าต้นแบบเพื่อให้เกิดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์และดำเนินการทดสอบตลาดแบบครบวงจร สินค้าได้รับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ และใช้ตราสัญลักษณ์หรือแบรนด์ OTOP Thai Taste ระบุข้อมูลโภชนาการต่อหน่วยบริโภค และจุดเด่นเรื่องราว (Story) ของผลิตภัณฑ์ ลงบนฉลากบรรจุภัณฑ์ ตามมาตรฐานสินค้าระดับสากล คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 36 โดยสินค้าต้นแบบที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีฟรีซดราย ในอนาคตตั้งราคาจำหน่ายไว้ 89 บาท ส่วนสินค้าที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีรีทอร์ท จะจำหน่ายในราคา 50 บาท จากเดิมที่ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าแบบปรุงสดได้ในราคาประมาณ 30 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 50 รายนั้น กระจายอยู่ในหลายจังหวัด จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ แม้การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตจะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ แต่ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ผู้ประกอบการให้ความสนใจและมองเห็นโอกาสที่จะปรับปรุง พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้สอดรับกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ประเมินว่าจากการดำเนินงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างรายได้จากการจำหน่ายวัตถุดิบและเกิดการจ้างงานภายในชุมชนที่ร่วมโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 50 ชุมชน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 4.2 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากวิถีชีวิตแบบปกติใหม่หรือ New Normal ที่ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น เกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น และนิยมซื้อทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ผู้บริโภคเองต้องการอาหารที่มีนวัตกรรมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย รูปแบบต่าง ๆ อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน อาหารที่มีอายุเก็บรักษานาน และอาหารที่มีคุณค่า ทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตสูง ผู้ประกอบการ OTOP ด้านอาหารและเครื่องดื่มเองก็ต้องปรับตัว ปรับวิธีคิด ปรับขั้นตอนและกระบวนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์มีอายุยาวนานขึ้น เพื่อตอบโจทย์ตลาดให้ทัน ขณะเดียวกันต้องเร่งยกระดับสินค้าอาหารให้ได้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย ให้ตลาดเกิดการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาสินค้าอาหารด้วยการแปรรูปโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์นับเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการมิอาจละเลยได้อีกต่อไป
ขณะเดียวกันได้มีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการ OTOP ประเภทอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ และมีศักยภาพทางการผลิตในเชิงพาณิชย์ จำนวน 50 ราย จาก 24 จังหวัด 5 ภูมิภาค แบ่งเป็นภาคเหนือ 10 ราย จาก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ลำพูน ลำปาง และพะเยา ภาคใต้ 10 ราย จาก 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ยะลา นราธิวาส พัทลุง และนครศรีธรรมราช ภาคกลาง 5 ราย จาก 5 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี กาญจนบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี และสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 ราย จาก 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา มหาสารคาม และอุบลราชธานี และภาคตะวันออก 9 ราย จาก 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง และชลบุรี เพื่อให้เข้าร่วมโครงการฯ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการยืดอายุผลิตภัณฑ์ผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์กลุ่ม และประเมินองค์ความรู้ผ่านทางโทรศัพท์
“ขั้นตอนต่อจากนี้คือการผลักดันสินค้าต้นแบบสู่ตลาด เพื่อดำเนินการทดสอบตลาดแบบครบวงจรและสร้างการรับรู้ไปสู่เครือข่ายการผลิตอาหารไทย และผู้บริโภค เช่น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ทั้ง 76 จังหวัด ผู้ประกอบการอาหาร และ ผู้บริโภคทั่วไป จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ ไม่น้อยกว่า 2,600 ชิ้น/จังหวัด และ กทม. 7,400 ชิ้น รวม 205,000 ชิ้น กระจายสินค้าส่งไปยังทั่วประเทศ คาดว่าจะรับมอบสินค้าครบตามจำนวนภายในเดือนสิงหาคมนี้” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวอย่างมั่นใจ
สำหรับการต่อยอดการแปรรูปผักสมุนไพร ในขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการจัดทำโครงการ “ยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้” โดยได้คัดเลือกเมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ และมีวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบจากพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านในชุมชน จำนวน 10 เมนูเป็นเมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้พร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ “OTOP Thai Taste” ด้วยรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ ที่ทันสมัย เก็บรักษาได้นานกว่า 1 ปี ได้แก่ แกงฮังเลไก่ น้ำยา(น้ำเงี้ยว) มัสมั่นไก่ แกงไตปลา ต้มโคล้งปลาย่าง แกงป่าไก่ น้ำยาป่า แกงเห็ด แกงส้มมะละกอ และแกงกระวานไก่ ปรับปรุงสูตรและพัฒนากระบวนการผลิตด้วย 2 เทคโนโลยียืดอายุผลิตภัณฑ์ ทั้งจากเครื่องฟรีซดราย (ทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง) และจากเครื่องรีทอร์ท(ฆ่าเชื้อภายใต้แรงดัน) พร้อมทยอยส่งทดสอบตลาดทั่วประเทศ คาดกระจายครบทุกจังหวัด 205,000 ชิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายวัตถุดิบและเกิดการจ้างงานภายในชุมชนที่ร่วมโครงการฯ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 4.2 ล้านบาท สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
นอกจากนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวด้วยว่ากระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน “น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน และเพื่อสร้างรายได้ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ โดยมีครัวเรือนเป้าหมาย 12.9 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 สำหรับแผนปฏิบัติการ 90 วัน“ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” กรมฯ ได้ประกาศเป็น Quick Win หรือวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลลัพธ์ในเร็ววัน โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ คือ 1.จะพัฒนาใครเขา ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน 2.ผู้นำต้องทำก่อน 3.ผนึกกำลัง ตั้งระบบ ทำให้ครบวงจร 4.ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน 5.สร้างเครือข่ายขยายผล 6.การคัดเลือกบุคคลต้นแบบและเชิดชูเกียรติ ทั้งนี้มุ่งหมายให้บรรลุผลตามแผน คือ มีความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน และลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน ตลอดจนสามารถสร้างรายได้ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือน และระดับกลุ่มอาชีพ ซึ่งกรมฯมีครัวเรือนเป้าหมายที่จะดำเนินการรณรงค์ทั้งหมดจำนวน 12.9 ล้านครัวเรือนสำเร็จตามโครงการเฟสแรกในวันนี้
โดยสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้น คือ ประชาชนมีผักทานเองในบ้านโดยที่ไม่ต้องซื้อหาจากข้างนอก ประชาชนชอบรับประทานผักอะไรก็ปลูกอันนั้น คิดง่าย ๆ หากประชาชน จำนวน 12 ล้านครัวเรือนประหยัดเงินจากการซื้อผักครัวเรือนละ 50 บาท เท่ากับเราจะช่วยให้ประชาชนประหยัดเงินได้ 600 ล้านบาท/วัน 18,000 ล้านบาท/เดือน และสามารถประหยัดได้กว่า 200,000 ล้านบาท/ปี เหลือจากรับประทานในครัวเรือน ก็แบ่งปันกันระหว่างเพื่อนบ้าน ระหว่างคนในชุมชน และความคาดหวังในอนาคต คือ เมื่อประชาชนได้ปลูกผักรับประทานเองได้ ต่อไปประชาชนจะได้รับประทานผักที่ปลอดภัย เพราะปลูกทานเอง เราจะระมัดระวังเรื่องของสารเคมีต่าง ๆ ที่จะใช้โอกาสที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมปลูกผักต่อ หรือต่อยอดในรูปแบบอื่น ได้แก่ 1.พัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน หรือฝึกประสบการณ์ให้กับสถานศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆได้ ทั้งในและนอกประเทศ 2.ธนาคารอาหารของชุมชน ตู้เย็นข้างบ้านมีผักกินตลอดกาล หรือกองทุนเมล็ดพันธุ์ชุมชน 3.พัฒนาขยายผลเป็นโคก หนอง นา โมเดล สร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างสิ่งแวดล้อมสมดุลอย่างยั่งยืน “สนับสนุนธุรกิจ Start Up ขายผักสด หรือผลิตภัณฑ์อาหารสมุนไพร” 4.เชื่อมโยงประสานการสนับสนุนโดยคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ซึ่งมีอยู่ ทุกจังหวัดให้เป็นกลไกกลางในการเชื่อมโยงผักปลอดภัยจากผู้ผลิตสู่ตลาด 4 ร ได้แก่ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร 5.ส่งเสริมการแปรรูปผักสมุนไพร นำไปสู่การลงทะเบียน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มช่องทางการตลาด
นอกจากนั้นแล้ว กรมฯ ยังมีแผนการดำเนินงานต่อไป คือ สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน ซึ่งจะดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 5 ธันวาคม 2563 เพื่อเป้าหมาย 5 ประการสำคัญคือ 1.ความต่อเนื่องคือพลัง ส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ปลูกอยู่แล้วให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และปลูกพืชผักเพิ่มเติมจากเดิม รวม 10 ชนิด 2.ทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มปลูกพืชผักประจำครัวเรือน เช่น มะนาว กล้วย มะละกอ เป็นต้น เพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่ม 3.ชุมชนสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนสีเขียว 4.จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผักอาหาร
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/