ศรีสะเกษ-ประกาศผ่อนผันคนเข้า-ออกที่ด่านชายแดนช่องสะงำ
ภาพ/ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข
ผู้ว่าฯประกาศผ่อนผันคนเข้า-ออกที่ด่านชายแดนช่องสะงำชายแดนไทย–กัมพูชา หลังจากปิดนานร่วม 4 เดือน เพื่อการนำเข้า- ส่งออกขนส่งสินค้าและสินค้า นักเรียนนักศึกษากัมพูชาให้เข้ามาเรียนได้ แต่ต้องไม่เป็นกรณีเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชาช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ตามที่ จ.ศรีสะเกษ ได้มีคำสั่งระงับการใช้ช่องทางการเข้า-ออกของบุคคล ยานพาหนะและสิ่งของ ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19 ) นั้น เนื่องจากว่าขณะนี้การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ในประเทศไทยได้ผลดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนายกรัฐมนตรีได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 (ฉบับที่12) ผ่อนผันการใช้ช่องทางเข้ามในราชอาณาจักรเฉพาะเพื่อการขนส่งสินค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่ง พระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับข้อ 5 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 12) และมติคณะกรรมการโรคติดต่อศรีสะเกษ
ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ตนจึงได้มีคำสั่งดังต่อไปนี้ 1. ให้ผ่อนผันการใช้ช่องทางสำหรับการนำเข้า- ส่งออก ขนส่งสินค้าและสินค้าผ่านแดน ณ จุดผ่านแดน ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ 2. ให้ผ่อนผันการใช้ช่องทางสำหรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของบุคคล ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ 2.1 ผู้มีสัญชาติไทย 2.2 ผู้มีเหตุยกเว้นหรือเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กำหนดอนุญาตหรือเชิญให้เข้ามาในราชอาณาจักรได้ตามความจำเป็นโดยอาจกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาได้ 2.3 บุคคลใดในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศหรือผู้แทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ซึ่งมาปฏิบัติติงานในประเทศไทยหรือบุคคลในหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น ตลอดจนคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว 2.4 ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น แต่เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้กลับออกไปโดยเร็ว 2.5 ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจ และมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน 2.6 ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของผู้มีสัญชาติไทย
ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า 2.7 ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร 2.8 ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ตลอดจนคู่สมรสหรือบุตรของบุคคลดังกล่าว 2.9 ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาของสถานศึกษาในประเทศไทย ที่ทางการไทยรับรอง ตลอดจนบิดามารดา หรือผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว ยกเว้นนักเรียนหรือนักศึกษาของโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือของสถานศึกษาอื่นของเอกชนที่มีลักษณะคล้ายกันดังนี้ 2.9.1 นักเรียนหรือนักศึกษาของสถาบันศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนประเภทนานาชาติหรือมหาวิทยาลัยในหลักสูตรนานาชาติ ทั้งนี้ให้รวมถึงบิดามารดา หรือผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว 2.9.2 นักเรียนของโรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือในสังกัดหน่วยงานอื่นของรัฐทั้งนี้ไม่รวมถึงบิดามารดาหรือผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว 2.9.3 นักเรียนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหรือโรงเรียนของสังกัดอื่นที่มีภารกิจในลักษณะเดียวกันทั้งนี้ไม่รวมถึงบิดามารดาหรือผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว 2.10 ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทยและผู้ติดตามของบุคคลดังกล่าวแต่ต้องไม่เป็นกรณีเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ทั้งนี้เฉพาะผู้มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทยที่เดินทางโดยทางอากาศโดยให้จำกัดจำนวนผู้ติดตามได้ไม่เกิน 3 คนและให้เข้ารับการกักกันในสถานพยาบาลเดียวกันรวมถึงต้องมีระยะเวลาที่อยู่ในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 14 วัน
ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า 2.11 ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement ) กับต่างประเทศ 2.11.1 ระยะยาวทั้งนี้ให้มีการกำหนดโควต้าจำนวนผู้เดินทางจากประเทศที่มีข้อตกลงพิเศษโดยกระทรวงการต่างประเทศเสนอขอความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19) 2.11.2 ระยะสั้นทั้งนี้ให้มีการกำหนดโควต้าจำนวนผู้เดินทางจากประเทศที่มีข้อตกลงพิเศษโดยกระทรวงการต่างประเทศเสนอขอความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)
3. ให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 7 / 2563 ลงวันที่ 30 มิถุนา 2563 ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 15 ก.ค. 2563
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ต่อมา นายอรรถพล อรรคบุตร นายอำเภอภูสิงห์ ได้มอบหมายให้นายสรศิริ จันดีบุตร ปลัดอำเภอภูสิงห์ ฝ่ายความมั่นคงนำสมาชิก อส.ภูสิงห์ที่ 19 ไปร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรช่องสะงำ เจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.๓ และ เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ร่วมกันนำป้ายประกาศ คำสั่งจังหวัดศรีสะเกษที่ 2962/2563 เรื่อง การผ่อนผันการใช้ช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ลงนามโดย นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ สั่ง ณ วันที่ 15 ก.ค. 2563 ไปติดตั้งเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่บริเวณประตูเหล็กจุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชา ช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไปแล้ว
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/