ศรีสะเกษ-ผู้ว่าฯเตือนเกษตรกรรักษาคุณภาพทุเรียนภูเขาไฟ
ภาพ/ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข
ผู้ว่าฯ เตือนเกษตรกรรักษาคุณภาพทุเรียนภูเขาไฟ คาดทุเรียนกว่า 4,000 ตันทะลักสู่ท้องตลาดต้นมิถุนายนนี้ ห้ามนำทุเรียนอ่อนออกมาขาย ถ้าเป็นทุเรียนที่อื่นนำมาขายก็ต้องบอกว่าเป็นทุเรียนที่อื่น เผยช่วงโควิด -19 การสั่งทุเรียนทางออนไลน์จะเป็นช่องทางประตูบานใหญ่ในการจำหน่ายทุเรียนภูเขาไฟ
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่สวนทุเรียนผู้ใหญ่พิสิตร์ เลขที่ 225 หมู่ 9 ต.น้ำอ้อม อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปร่วมเสวนาขับเคลื่อน “สินค้าทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ซึ่งการเสวนาครั้งนี้เป็นการร่วมมือระหว่างส่วนราชการ และกลุ่มแกนนำผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟเพื่อการส่งออกจำนวน 20 กลุ่ม เป็นการเสวนาเพื่อต้องการเน้นกระบวนการผลิตทุเรียนภูเขาไฟที่ได้มาตรฐานสากล ตั้งแต่วิธีการปลูก การดูแลบำรุงรักษา และการรักษาคุณภาพตามความต้องการของตลาด จากนั้น ผวจ.ศรีสะเกษ ได้ออกไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนภูเขาไฟที่กำลังให้ผลผลิตจำนวนมากที่รอการเก็บผลผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาด
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ปีนี้ทุเรียนภูเขาไฟคาดว่าจะออกสู่ท้องตลาดประมาณ 4,000 ตันเศษ ผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ท้องตลาดในเดือน มิ.ย. 2563 น่าจะเป็นเดือนที่มีปริมาณผลผลิตทุเรียนภูเขาไฟออกสู่ท้องตลาดจะเยอะมากไปจนถึงกลางเดือน มิ.ย. 63 ขณะนี้ราคาทุเรียนอยู่ที่สวนจะมีราคา กก.ละ 130 บาทขึ้นไป และ 180 บาทขึ้น บางสวนที่เป็นรายใหญ่ ๆ ที่เขาทำมานานซึ่งมีลูกค้าประจำอยู่ บางแห่งก็มีราคา กก.ละ 180 บาทถึง 200 บาท เป็นราคาที่เฉลี่ยอยู่ภายในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษในขณะนี้ ตนเห็นว่า เรื่องทุเรียนภูเขาไฟนี้ ชาวศรีสะเกษ จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ค้าและผู้ผลิตคือพี่น้องเกษตรกร ชื่อเสียงของทุเรียนภูเขาไฟเรามีคุณค่าและมีความหมาย จึงอยากจะขอฝากพี่น้องเกษตรกร ซึ่งเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่เราจะต้องทำมี 2 อย่างคือ การผลิตที่มีคุณภาพและปลายทางให้เขามีความมั่นใจ เพราะฉะนั้นพี่น้องเกษตรกรเรามีความตั้งในการผลิตอยู่แล้ว ถ้าใครได้สัมผัสจะรู้ว่าการผลิตทุเรียนภูเขาไฟยากมาก เพราะฉะนั้นชาวศรีสะเกษเองก็พยายามจะผลิตทุเรียนให้ดีที่สุด เพื่อที่จะให้ปลายทางคือผู้บริโภคมีความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนศรีสะเกษแท้เรื่องรสชาติของทุเรียน เรื่องคุณภาพของทุเรียนอะไรต่าง ๆ
ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า จึงอยากขอฝากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภูเขาไฟว่า จะต้องสร้างมาตรฐานและรักษามาตรฐานของเราไว้ให้ดีที่สุด ประการที่ 2 ผู้ค้าผู้ขายเองอยากให้ตรงไปตรงมาว่า ถ้าหากเป็นทุเรียน ศรีสะเกษ ก็บอกว่าเป็นทุเรียนศรีสะเกษ ถ้าเป็นทุเรียนที่อื่นก็ให้บอกว่าเป็นทุเรียนที่อื่น เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออย่างถูกต้อง ก็ฝากไว้เพราะว่า แม้พี่น้องเราบางส่วนอาจจะไม่ให้ความสำคัญ แต่ว่าส่วนรวมอาจจะได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคก็จะผิดหวัง เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายามทำตรงนี้ และจะมีสารวัตรทุเรียนคอยออกตรวจตราสอดส่องเป็นประจำอยู่เสมอ ส่วนในช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 จะกระทบต่อการจำหน่ายทุเรียนภูเขาไฟหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า อีกไม่นานคงจะมีการผ่อนคลายในหลาย ๆ เรื่อง และโอกาสในการส่งเสริมการขายและการทำตลาดโอกาสที่จะให้พี่น้องได้มีโอกาสเดินทางเข้ามาในพื้นที่ก็น่าจะมีมากขึ้น แต่ว่าอย่างไรก็ตาม การค้าขายส่วนหนึ่งเราก็จะออกไปค้าขายข้างนอกด้วย ซึ่งทางราชการเองก็หาตลาดให้พี่น้องเกษตรกรอยู่ และส่วนสำคัญคือช่องทางของตลาดออนไลน์เราจะให้มันโตขึ้น ขณะนี้ช่วงของภาวะวิกฤตนี้ บางครั้งมันก็เป็นโอกาส ซึ่งโอกาสที่ว่านี้คือ พี่น้องประชาชนชาวไทยทั่วประเทศคุ้นเคยกับการสั่งของทางออนไลน์ เพราะฉะนั้น ตนเห็นว่า ผู้ที่จะบริโภคทุเรียน โอกาสที่เขาเหล่านั้น จะสั่งทุเรียนภูเขาไฟทางออนไลน์น่าจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประตูบานใหญ่ในการจำหน่ายทุเรียนภูเขาไฟเช่นเดียวกัน
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/