เชียงใหม่-องคมนตรีติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร
ภาพ/ข่าว:ทีมข่าวเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่
ขอบคุณข้อมูล:สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
องคมนตรีประชุมติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร “ชนกาธิเบศรดำริ” ของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อเป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ตามแนวทางโครงการหลวงโมเดลสู่ประชาชนและชาวต่างชาติ
วันนี้ (3 ก.ย. 64) เวลา 9.45 น. ที่ห้องศรีตรัง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมรับฟังสรุปความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ชนกาธิเบศรดำริ ของมูลนิธิโครงการหลวงจากกองพลพัฒนาที่ 3 กองทัพภาคที่ 3 พร้อมมอบโล่ขอบคุณและของที่ระลึกแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 3 และนายทหารในสังกัด ที่ให้การสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ชนกาธิเบศรดำริ รวมทั้งให้ความร่วมมือแก่มูลนิธิโครงการหลวงมาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ขึ้นในบริเวณพื้นที่ 21.9 ไร่ ณ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนางานบนพื้นที่สูง การดำเนินการจัดตั้งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงบประมาณ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ว่า “ชนกาธิเบศรดำริ” ซึ่งมีความหมายว่า เป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สืบสาน รักษา และต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะสร้างประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และประชาชนโดยรวมของประเทศ
การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อต้นปีพุทธศักราช 2563 ประกอบด้วย อาคารอำนวยการ อาคารปฏิบัติงาน กลุ่มอาคารห้องปฏิบัติการ ได้แก่ อาคารปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์และแปรรูปสมุนไพร อาคารปฏิบัติการอารักขาพืช อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ และยังมีอาคาร DATA CENTER เป็นศูนย์ควบคุมระบบสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อมต่อกับสถานีวิจัย สถานีเกษตรหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ที่ตั้งอยู่ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ และศูนย์ผลิตผลโครงการหลวงที่กรุงเทพฯ ขณะนี้ การก่อสร้างส่วนอาคารหลักทั้งหมดโดยความร่วมมือของกองพลพัฒนาที่ 3 กองทัพภาคที่ 3 ได้แล้วเสร็จ และเมื่อการดำเนินการในส่วนอื่นครบถ้วนแล้ว มูลนิธิโครงการหลวงจะเคลื่อนย้ายที่ทำการและห้องปฏิบัติการทั้งหมดที่ตั้งกระจายอยู่ตามพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ไปยังศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ เพื่อรวมการบริหารจัดการให้เกิดความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รูปแบบการดำเนินงานภายใต้ศูนย์วิจัยฯ ชนกาธิเบศรดำริ มีความครบวงจรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการผลิตพืชปลอดโรค การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช พร้อมบริการตรวจวินิจฉัยโรคและแมลงแก่บุคคลภายนอก การวิจัยและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงการบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และยังมุ่งสู่การเป็นสถานที่เรียนรู้แบบครบวงจร แหล่งฝึกประสบการณ์ของนิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มูลนิธิโครงการหลวงได้วางแผนพัฒนาระบบการเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงที่สั่งสมประสบการณ์มากว่า 50 ปี เพื่อเผยแพร่แนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาพื้นที่สูงภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ โครงการหลวงโมเดล ให้เป็นที่รับรู้ และขยายประโยชน์สู่ประชาชนชาวไทยและประเทศต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/