ชัยนาท-อธิบดีกรมชลฯประชุมติดตามการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งลุ่มเจ้าพระยา

ชัยนาท-อธิบดีกรมชลฯประชุมติดตามการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งลุ่มเจ้าพระยา

ภาพ/ข่าว:ธนพนธ์ แสงทอง 

           อธิบดีกรมชลฯประชุมติดตามการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งลุ่มเจ้าพระยาพร้อมแนะนำชาวนาให้ทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อเป็นการประหยัดน้ำ

             วันนี้ 26 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณ ห้องประชุมพระครูวิมลคุณากร อาคารศูนย์เรียนรู้และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สำนักงานชลประทานที่ 12 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะเดินทางลงพื้นที่ประชุมและติดตามการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 64/65 โดยในเขตพื้นที่ สำนักงานชลประทานที่ 12 มีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานประมาณ 2.4 ล้านไร่ มีแผนปลูกข้าวนาปรัง64/65 ประมาณ 8.3 แสนไร่ โดยใช้ปริมาณน้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มของประมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาคาดว่าจะมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานได้อย่างเต็มศักยภาพ

             โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการติดตามการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2564/65 ซึ่งจะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ประมาณ 7,700 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณมากกว่าในช่วงฤดูแล้งของปีที่ผ่านมาประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สิ่งสำคัญด้วยความห่วงใยของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้คุ้มค่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นฤดูน้ำหลากเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม ฉะนั้นในปีนี้ปริมาณน้ำที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำก็จะมีการทำนาโดยทางกรมชลประทานจะสนับสนุนน้ำให้เกษตรกร สำหรับใน 9 มาตรการ ที่ทางกนช.มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันภัยแล้ง ก็มีอยู่ 8 มาตรการ ที่ทางกรมชลประทานจะต้องดำเนินการ แต่มาตรการที่สำคัญที่สุดที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปก็คือการสร้างความรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนผู้ใช้น้ำ และหลังจากวันนี้เป็นต้นไปปริมาณน้ำที่มีอยู่จะต้องใช้ให้มีประโยชน์อย่างสูงสุดกับประชาชนในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นน้ำในด้านการอุปโภค-บริโภค-การรักษาระบบนิเวศ น้ำในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม

               นอกจากนี้สำหรับในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ทางกรมชลประทานได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกรนั้นทำนาในรูปแบบเปียกสลับแห้งและเตรียมพร้อมจะเดินหน้าให้กระจายโครงการดังกล่าวทั่วทุกพื้นที่ของประเทศเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรช่วยกันประหยัดน้ำต้นทุน ซึ่งการทำนาแบบเปียกสลับแห้งเป็นการทำนาที่ใช้กันมานานและได้ผลผลิตที่ดี อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ทางกรมชลประทานก็ยังต้องขอความร่วมมือกับประชาชนผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ ซึ่งทางกรมชลประทานก็จะมีการบริหารจัดน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามนโยบายของรัฐบาลที่อยากจะให้ประชาชนใช้น้ำได้อย่างทั่วถึงกัน

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!