อยุธยา-กรมเจ้าท่า ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 ณ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
อยุธยา-กรมเจ้าท่า ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 ณ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
ภาพ/ข่าว: นราเอก ตันศิริ : นพดล บำเพ็ญสัตย์
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ให้ นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า ตามที่ขอรับพระราชทานน้อมนำไปถวายพระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดเสนาสนารามราชวริวหาร ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา เข้าร่วมในพิธีในครั้งนี้ โดยมี พระเทพมงคลโสภณ เจ้าคณะภาค 17-18 ธรรมยุต/เจ้าอาวาสวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ เป็นองค์ประธานนำพระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทั้งนี้ ได้มีผู้มีจิตกุศลร่วมถวายจตุปัจจัยบำรุงและบูรณะพระอาราม ทำบุญกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการปฏิสังขรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยปฏิสังขรณ์ทั้งวัด แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2406 และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดเสนาสนาราม เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย โดยได้รวมวัดเสื่อ (วัดท่าเสื่อ) ซึ่งมีชื่อในพงศาวดารว่า อุปราชจัน น้องชายขุนวรวงศาธิราช ถูกหมื่นราชเสน่หานอกราชการลอบฆ่าบริเวณวัดท่าเสื่อ ซึ่งในแผนที่อยุธยา พ.ศ. 2503 ได้แสดงว่าวัดเสื่อกับวัดเสนาสนารามเป็นคนละวัด โดยวัดเสื่ออยู่ทางด้านใต้ของวัดเสนาสนาราม อยู่ติดคลองวัดเสื่อซึ่งเชื่อมต่อคลองหอรัตนไชยกับคลองประตูข้าวเปลือก ปัจจุบันวัดเสื่อและคลองวัดเสื่อถูกทำลายจนไม่เห็นสภาพแล้ว
ศาสนสถานที่สำคัญของวัดได้แก่ พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังเป็นไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจกรูปช้างเอราวัณ ขนาบด้วยฉัตร เหนือเศียรช้างเอราวัณมีพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือรูปพระมหามงกุฏ ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นภาพวาดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากพระอุโบสถ ยังมีพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และพระวิหารพระอินทร์แปลงซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด โดยมีพระสัมพุทธมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดพระมหามงกุฎ มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 2 นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี 3 ศอก 1 นิ้ว ที่ซุ้มเรือนแก้วมีอักษรขอมจารึกไว้ รอบๆมีจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุม ซึ่งยังคงความงดงามจนถึงปัจจุบัน