ชลบุรี-สภาเมืองพัทยาเห็นชอบอนุมัติงบกว่า 834 ล้าน จ้างเหมาบริหาร รพ.เมืองพัทยา
ภาพ/ข่าว:นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี
สภาเมืองพัทยา เห็นชอบอนุมัติงบ 834,250,000 บาท จ้างเหมาเอกชนบริหารจัดการโรงพยาบาลเมืองพัทยา หวังยกระดับคุณภาพชีวิต สุขภาพให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวรองรับ EEC
ที่ ห้องประชุมสภาเมืองพัทยา ได้มีการจัดประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 โดยมี นายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเมืองพัทยา และหัวหน้าส่วนราช การ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ในการนี้ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้เสนอร่างข้อบัญญัติขอรับความเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ โครงการจ้างเหมาเอกชนในการให้บริการ การบริหารจัดการและดำเนินการโรงพยาบาลเมืองพัทยา ประจำปีงบปนะมาณ 2565-2567 ระยะเวลา 3 ปีงบประมาณ เป็นเงินจำนวน 834,250,000 บาท (แปดร้อยสามสิบสี่ล้านสองแสนห้าหมื่นบาท) ซึ่งตามข้อบัญญัติเมืองพัทยา เรื่องวิธีการงบประมาณ 2545 การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าปีงบประมาณจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบสภาจากสภาเมืองพัทยาและเมื่อมีรายได้ตามงบประมาณแล้วจึงจะจ่ายได้
ด้วยเมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรวมถึงผู้ประกอบการต่างๆเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนของประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามาตลอด ซึ่งการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้มีสุขภาพที่ดีและเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองพัทยาและประเทศไทย จึงต้องมีโรงพยาบาลเมืองพัทยาซึ่งปัจจุบันมีสถานะเทียบเท่าโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ แต่เนื่องจากสำนักการสาธารณสุขมีอัตรากำลังบุคลากรในกรอบโครงสร้างโรงพยาบาลเมืองพัทยารวม 45 อัตรา ซึ่งไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ ประกอบกับมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะกำหนดสูงกว่าร้อยละ 40ของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้ ทำให้มีความจำเป็นต้องจ้างเหมาเอกชนเพื่อดำเนินการโครงการจ้างเหมาเอกชนในการให้บริการการบริหารจัดการและการดำเนินงานในโรงพยาบาลเมืองพัทยา
โดยความจำเป็นในการดำเนินการจ้างเกินหนึ่งปีงบประมาณ เนื่องจากโครงการที่ต้องใช้เวลาพัฒนามากกว่า 1 ปี ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเมืองพัทยา ซึ่งการดำเนินการจ้างเหมาเอกชนในการบริการ การบริการจัดการและการดำเนินงานในโรงพยาบาลเมืองพัทยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงเห็นควรดำเนินการจ้างระยะเวลา 3 ปี เป็นเงินจำนวน 834,250,000 บาท (แปดร้อยสามสิบสี่ล้านสองแสนห้าหมื่นบาท) แบ่งออกเป็นปีงบประมาณ 2565 เป็นเงิน 283,195,000บาท ปีงบประมาณ 2566 เป็นเงิน 278,815,000 บาท และปีงบประมาณ 2567 เป็นเงิน 272,240,000 บาท ซึ่งการจัดจ้างดังกล่าวดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง
ทั้งนี้นายชาคร กัญจนวัตตะ รองประธานสภาเมืองพัทยา ได้มีการท้วงติงและสอบถามถึงความคุ้มค่าในการจ้าง 3 ปีดีกว่า 1 ปีอย่างไร อีกทั้งยังได้มีการสอบถามแนวทางและวิธีการเพิ่มผู้ประกันตนให้มาใช้สิทธิประกันสังคมกับโรงพยาบาลเมืองพัทยาว่ามีแนวทางใอย่างไร นอกจากนี้ได้มีการวางแนวปฏิบัติให้ผู้รับจ้างดำเนินตามเป้าหมายที่กำหนดในเรื่องของการสร้างรายได้อย่างไรบ้างและหากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดได้ในระยะเวลา 3 ปี ทางโรงพยาบาลเมืองพัทยาจะมีการดำเนินการอย่างไรกับผู้รับจ้าง จึงยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องชี้แจงแนวทางต่างๆให้สภาเมืองพัทยาได้รับทราบ
ด้านร้อยตำรวจเอกหญิงพรพนา โชคไทย ผู้อำนวยการส่วนบริการสาธารณสุข ชี้แจงวว่า สำหรับเป็นแผนดำเนินการเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควบคู่กับแผนการเพิ่มจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคม โดยแผนดำเนินการเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการที่รพ.เมืองพัทยาจากสิทธิ์ประกันสังคม ได้ตั้งเป้าหมาย ปี 2565 เพิ่มจำนวนอีก 20,000 ราย ซึ่งจะมีรายได้เข้ารพ.เมืองพัทยาถึง 46 ล้านบาท ในปี 2566 จะเพิ่มจำนวนผู้รับบริการสิทธิ์ประกันสังคม อีก 10,000 รายจะมีรายได้จากการดูแลผู้ป่วยสิทธิ์ประกันสังคมรวมเป็นเงิน 69 ล้านบาทและปี 2567 เพิ่มจำนวนผู้รับบริการที่เป็นสิทธิ์ประกันสังคม อีก 10,000 รายจะมีรายได้จากการดูแลผู้ป่วยอีก รวมเป็นเงิน 92 ล้านบาท ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด -19 ยังไม่ดีขึ้นนอกจากการทำแผนการตลาดในผู้ป่วยกลุ่ม สิทธิ์ ประกันสังคม แล้วการบริการสาธารณสุขเชิงรุก ก็เป็นแผนการดำเนินงาน เพื่อดูแลคุณภาพชีวิต ประชาชน ในชุมชนด้านการคัดกรองโรค การตรวจมะเร็งปากมดลูกการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังและการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน เป็นต้น ซึ่งการบริการต่าง ๆที่กล่าวมาสามารถบันทึกข้อมูลส่งที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช) เพื่อรับค่าดำเนินงานเป็นรายได้เข้ารพ.เมืองพัทยา อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาเมืองพัทยา มีการลงมติเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ โครงการจ้างเหมาเอกชนในการให้บริการ การบริหารจัดการและดำเนินการโรงพยาบาลเมืองพัทยา ประจำปีงบปนะมาณ 2565-2567 ระยะเวลา 3 เป็นเงิน 834,250,000 บาท (แปดร้อยสามสิบสี่ล้านสองแสนห้าหมื่นบาท)