นครสวรรค์-อบจ. ประชุมซูมร่วมศึกษานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร

นครสวรรค์-อบจ. ประชุมซูมร่วมศึกษานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร

ภาพ/ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

อบจ.ประชุมซูมร่วมศึกษานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร กับ สนง.นวัตกรรมแห่งชาติ อาจารย์ ม.ราชภัฏ

          เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมศูนย์สั่งการและควบคุมการปฏิบัติ (CCOC) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย นายมานพ บุญผสม นางสุดฤทัย เศรษฐนันท์ นายเชิดพันธุ์ มาศรี รองนายกอบจ.นครสวรรค์ พลตำรวจตรีวิฑูรย์ คลังพลอย ที่ปรึกษานายก อบจ. ร้อยตำรวจโทพิทักษ์ พันธ์งิ้ว เลขานายกอบจ. นายไกรสิน ศิลปาจารย์ ปลัดอบจ. สิบเอกพิทยา นาคกุญชร รองปลัด อบจ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือออนไลน์ระบบซูมเพื่อร่วมศึกษายกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่ กับ อาจารย์มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช.(องค์การมหาชน) โดยมี ผศ.ชัชชัย เขื่อนธรรม อาจารย์อาคิรา สนธิธรรม อาจารย์สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เข้าร่วมประชุม
          สืบเนื่องจากการที่พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ มีแนวคิดการใช้เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกระดับ พัฒนาคุณภาพ ลดต้นทุน เพราะการทำการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ตามวิถีแบบเดิมพื้นที่อาจจะไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงการใช้พื้นที่อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ และนักเรียนได้ประโยชน์ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง ทำการศึกษาพัฒนาวิธีการดำเนินการ เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิต การแปรรูป จนสามารถนำไปสู่การประกอบอาชีพด้วยตนเองได้ ตามแนวคิด” 1 คน 1 ความสามารถ 1 อาชีพ”
         โดยอาจารย์มณฑา ไก่หิรัญ ได้นำเสนอยกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นแนวคิดการพัฒนา ที่มุ่งนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ และศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆมาใช้ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของพื้นที่ เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน โดยทั่วไปแผนการพัฒนาเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการลงทุน โดยยังขาดการเชื่อมโยงกับมิติของการพัฒนาบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางวิทยาการ
          สนช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่” (Area Based Innovation) ซึ่งจะเป็นการนำเสนอรูปแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ บนพื้นฐานของปัจจัยการพัฒนาในทุกมิติ ซึ่งการพัฒนาโครงการนวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงพื้นที่นั้น จะมุ่งเน้นแหล่งวัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อการผลิต และพัฒนาเป็นนวัตกรรม รวมไปถึงศักยภาพด้านการลงทุนของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลและวิเคราะห์ในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล โดยดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและวิสาหกิจ เพื่อให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น เพื่อเชื่อมต่อผู้คนและความคิดภายในพื้นที่ รวมถึงการมีกลไกที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน แบ่งปันความรู้แก่กัน ของชุมชน ธุรกิจ และหน่วยงานในพื้นที่ ในเบื้องต้น สนช. ดำเนินการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมทั้งในระดับภูมิภาค ระดับเมือง และระดับย่าน ซึ่งจะมีการพัฒนาใน 3 ส่วน ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การบริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีเป้าหมายหลักได้แก่ เกิดขั้วความเจริญเติบโตทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เกิดความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ-เอกชน-มหาวิทยาลัย-ชุมชน ในท้องที่เป้าหมาย มีพัฒนาการด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและเกิดการใช้จริงในพื้นที่
          พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า “การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน สร้างระดับมาตรฐาน ด้านการแปรรูปวัตถุดิบ จะทำให้เกิดการเปิดตลาดใหม่และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยมุ่งเน้นวัตถุดิบในท้องถิ่นให้มีการพัฒนาจากรูปเดิม และสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อร่วมมือการพัฒนาท้องถิ่นในการพลิกโฉมการเกษตร”

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!