ความสำนึกผิด ต้องเริ่มที่ตัวเรา ธรรมะดีๆ จากหลวงพี่น้ำฝน
ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน
ความสำนึกผิด ต้องเริ่มที่ตัวเรา
เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน จุดไฟในใจคนฉบับที่แล้ว อาตมาได้กล่าวถึงพระองคุลีมาลเถระ อดีตมหาโจรผู้สร้างความสะพรึงกลัวไปทั่วทั้งชมพูทวีป หากแต่เมื่อพบกับพระบรมศาสดานั้น องคุลีมาลได้กลับใจกลายเป็นสาวกของพระพุทธองค์ และในที่สุดองคุลีมาลก็ได้บวชในสำนักของพระบรมศาสดา จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ทีนี้หลายคนอาจจะมีคำถามอยู่ในใจว่า คนอย่างองคุลีมาลนั้นหรือจะบวชเป็นพระภิกษุถึงขั้นสำเร็จพระอรหันต์ได้ พระองคุลีมาลไม่ต้องรับกรรมใด ๆ เลยหรือ องคุลีมาลมีความสำนึกต่อกรรมที่ตนได้ก่อไว้จริงหรือ คำตอบอยู่ใน อังคุลีมาลสูตร อาตมาจะขอย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ที่องคุลีมาลมุ่งติดตามพระสมณโคดม หวังจะปลิดชีพพระพุทธองค์เสีย เตรียมดาบและธนูไว้พร้อมสรรพ แต่วิ่งไปเท่าใดก็มิอาจติดตามพระพุทธองค์ได้ทันเลย จนเป็นที่แปลกใจแก่องคุลีมาล องคุลีมาลจึงกล่าวว่า “จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ” พระพุทธองค์ตรัสกลับมาว่า “เราหยุดแล้ว องคุลีมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด” องคุลีมาลแปลกใจ เพราะพระพุทธองค์ยังเดินอยู่ แต่ตัวเองหยุดยืนอยู่ ก็ถามอีกว่า “ดูกรสมณะ ท่านกำลังเดินไป ยังกล่าวว่า เราหยุดแล้ว และท่านยังไม่หยุด ยังกล่าวกะข้าพเจ้าผู้หยุดแล้วว่าไม่หยุด ดูกรสมณะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ท่านหยุดแล้วเป็นอย่างไร ข้าพเจ้ายังไม่หยุดแล้วเป็นอย่างไร?” พระพุทธองค์ตอบว่า “ดูกรองคุลิมาล เราวางอาชญาในสรรพสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่า หยุดแล้วในกาลทุกเมื่อ ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจึงหยุดแล้ว ท่านยังไม่หยุด” เท่านั้นเององคุลีมาลก็คงจะคิดได้ จึงกล่าวว่า “ดูกรสมณะ ท่านอันเทวดามนุษย์บูชาแล้ว แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มาถึงป่าใหญ่เพื่อจะสงเคราะห์ข้าพเจ้าสิ้นกาลนานหนอ ข้าพเจ้านั้นจักประพฤติละบาป เพราะฟังคาถาอันประกอบด้วยธรรมของท่าน” ถึงจุดนี้องคุลีมาลได้แสดงความตั้งใจจะเลิกประพฤติบาป และได้ทำต่อไปในสิ่งที่ใคร ๆ คงไม่คาดคิด คือ ขอบรรพชา
พระพุทธเจ้าก็ทรงให้บรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสียด้วย ด้วยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ และหลังจากนั้น องคุลีมาลก็กลายเป็นพระภิกษุที่มีกิริยาอาการอันสำรวม สงบ กลายเป็นผู้ถือเอาการบิณฑบาต อาศัยป่า ใช้ผ้าสามผืนเป็นวัตร มิเป็นภัยแก่ผู้ใดอีก อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงว่าพระองคุลีมาลระลึกถึงความผิดบาปของตนอยู่เสมอ คือ คราวที่พระองคุลีมาลได้พบกับหญิงมีครรภ์แก่ พระองคุลีมาลได้กลับไปหาพระพุทธองค์เพื่อทูลขอคำแนะนำ พระองค์ทรงแนะนำให้กล่าวว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาแล้วจะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด” พระองคุลีมาลทูลทักท้วงขึ้นทันทีว่า หากกล่าวเช่นนั้นถือว่ากล่าวเท็จแน่นอน เพราะว่าตนเองได้ฆ่าคนมามาก พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำใหม่ให้กล่าวว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด” พระองคลีมาลออกไปกระทำตามที่พระพุทธองค์แนะนำ และด้วยสัจจวาจานั้น หญิงครรภ์แก่ก็ปลอดภัย เป็นที่มาขององคุลีมาลปริตรสืบมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากเหตุการณ์นั้น พระองคุลีมาลก็มุ่งมั่นปฏิบัติธรรม จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งนั้นเอง แต่การเป็นพระอรหันต์มิได้หมายความว่าจะสิ้นกรรม เพราะเมื่อพระองคุลีมาลผู้เป็นพระอรหันต์ออกรับบิณฑบาตที่กรุงสาวัตถี ผู้คนรู้ จำได้ว่านั่นคือพระองคุลีมาล ก็ต่างพากันโกรธแค้นชิงชัง พากันขว้างหินเอย ท่อนไม้เอยใส่พระองคุลีมาล จนเลือดอาบเต็มร่าง บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด แต่พระองคุลีมาลก็มิได้ทำอะไรตอบกลับผู้คนเหล่านั้นเลย ได้แต่ประคองร่างที่โชกเลือดมาเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงกล่าวว่าให้อดทนอดกลั้นไว้ ด้วยได้เสวยผลกรรมอันเป็นเหตุที่จะทำให้พระองคุลีมาลต้องตกนรกหมกไหม้ไปตราบนานเท่านาน ให้หมดเสียเพียงในชาตินี้
ในที่สุด พระองคุลีมาลก็ได้พบปลายทางอันสงบสุขแห่งชีวิต ได้พบบทสรุปอันเกษม นั่นแหละคือตัวอย่างของความสำนึกผิดที่แท้จริง ฉะนั้นแล้ว ความสำนึกผิดคืออะไร ก็คือการระลึกว่าสิ่งที่เคยทำไปนั้น จะจงใจเจตนาหรือเป็นความประมาท มันเป็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ หรือไม่ควรประมาทพลาดพลั้งไป และต้องน้อมรับต่อผลกรรมที่จะตามมา และจะต้องปฏิญาณต่อใจตนเองว่าเราจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้นอีก การสำนึกผิดนั้นเริ่มต้นที่ใจที่สุจริตเสียก่อน การสำนึกผิดมิใช่การกลบเกลื่อนความผิด หรือความพยายามทำบุญละลายผลกรรมแบบที่สักแต่ว่าทำ อุปมาเหมือนการล้างบาป หรือหวังประโยชน์ประการอื่นที่มิได้เกิดจากความสำนึกด้วยใจจริง ๆ แบบนี้ไม่ควรเรียกว่าการสำนึกผิด หากเป็นแบบนั้น ถึงจะหลบลี้หนีกรรมมาบวชในรูปแบบใดก็ตาม จะห่มเหลืองห่มขาวห่มหนังสัตว์ ก็คงไม่ช่วยอะไรมากนักหนา เพราะพระองคุลีมาลก็ได้สอนเราแล้วว่า แม้ผ้าเหลืองก็ขวางผลกรรมไม่ได้ และพระองคุลีมาลเลือกที่จะเผชิญหน้าต่อผลกรรมนั้น นั่นคือความสง่างามของพระองคุลีมาลที่พร้อมจะเผชิญผลกรรมด้วยความอดทนอดกลั้น และด้วยใจที่สำนึกผิดจริง ๆ มิใช่การนำผ้าเหลืองมาฟอกตน เพราะถ้าไม่ฟอกใจให้มีทิฐิอันถูกต้องแล้ว สภาวะนักบวชก็ไม่ช่วยอะไรแน่นอน ถึงจะหนีผลกรรมบางอย่างไปได้ แต่ใจก็ตกนรกทั้งเป็นอยู่แบบนั้นเอง เราทุกคน พุทธบริษัททั้งปวง ควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพราะนั่นคือแก่นพุทธศาสนาซึ่งตั้งอยู่บนเรื่องกรรม เราควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ให้มีความเชื่อเรื่องกรรมอย่างถูกต้อง ขอเจริญพร