พิษณุโลก-กองทัพภาคที่ 3 แถลงการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

พิษณุโลก-กองทัพภาคที่ 3 แถลงการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

ภาพ/ข่าว:อนุชา แก้วคำมา

โฆษกกองทัพภาคที่ 3 แถลงการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการจับกุมกักตุนสินค้า

           เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 63 ที่บริเวณโถงกลาง สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมืองพิษณุโลก พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าในส่วนของการป้องกันโรคโควิด -19 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตามกรอบพระราชกำหนด ตามที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ ประกอบกับในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค จึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการระบาดใหญ่ และขอให้ทุกประเทศบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเด็ดขาดยิ่งขึ้น การระบาดของโรคดังกล่าว จึงเป็นสถานการณ์ อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน เพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ประกอบกับมีการกักตุนสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลน อันจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อน ของประชาชน จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

            สำหรับข้อกำหนดการป้องกันโรคโควิด –9 ตามกรอบพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 16 ข้อ โดยสามารถสรุปเป็น 3 มาตรการในการปฏิบัติ ดังนี้.-
1. ห้ามทำ
1.1 ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนด ข้อกำหนดรับรอง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่ประกาศปิดสถานที่ไปก่อนหน้านี้ และสั่งให้จังหวัดที่ยังไม่ประกาศ มีคำสั่งปิดตามความเหมาะสม รวม “สถานที่สาธารณะ” ที่อาจมีคนไปรวมตัวกัน
1.2 ห้ามชุมนุมใดๆ ห้ามทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ในสถานที่แออัด ที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาด
1.3 ห้ามกักตุนสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม สินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค ในชีวิตประจำวัน
1.4 ห้ามเสนอข่าวเท็จ ข่าวลวง ข่าวปลอม ที่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกเกี่ยวกับ โควิด-19
1.5 ห้ามคนเข้าประเทศทุกยานพาหนะ ทุกด่าน ยกเว้น คนไทย ผู้ขนส่งสินค้าจำเป็น ผู้ควบคุมยานพาหนะ บุคคลในคณะทูต ผู้มีใบอนุญาตทำงาน โดยต้องมีใบรับรองแพทย์
2. ให้ทำ
2.1 ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล จัดหา จัดเตรียมบุคลากร ยาเวชภัณฑ์ สถานที่กักกัน โดยอาจขอความร่วมมือจากโรงแรม โรงเรียน ศาลาวัด อาคารเอกชน หรือราชการ เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว
2.2 ให้ผู้ที่ต้องกักกันตัวเองตามคำสั่ง หรือเป็นผู้เดินทางข้ามเขตมาจากพื้นที่ที่จังหวัดอื่น ให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเข้มงวดจริงจังในการกักกันตนเอง ให้มีการจัดเวรยาม ตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม การรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุม ในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค การฉวยโอกาส ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน การกลั่นแกล้ง เพื่อแพร่เชื้อโรค
2.3 ให้มีมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส และกำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน ให้เจ้าหน้าที่จนถึงผู้ใช้บริการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง อย่างน้อย 1 เมตร การควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมมิให้แออัด อาจเพิ่มมาตรการการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว
3. ควรทำ
3.1 ผู้มีโรคประจำตัวผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป เด็กเล็ก ต่ำกว่า 5 ปี ควรอยู่บ้าน เว้นแต่จำเป็น เช่น ไปพบแพทย์ ทำธุรกรรม ซื้อหาอาหาร3.2 การเดินทางข้ามจังหวัดพึงงดหรือชะลอ หากจำเป็นจะต้องรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด
3.3 กิจกรรมทางสังคม เช่น งานครอบครัว สมรส งานศพ ยังจัดได้ตามความเหมาะสม โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
3.4 มีนโยบายให้เปิดทำการสถานพยาบาล ร้านยา ร้านอาหารแบบซื้อกลับ โรงแรม ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าทั่วไป ห้างเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต โรงงาน ธุรกิจ หลักทรัพย์ธนาคาร ตลาดอาหาร เชื้อเพลิง บริการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า บริการสินค้าและอาหารตามสั่ง หน่วยงานรัฐ เว้นแต่ที่ได้ประกาศให้ปิดไปแล้ว เช่น สถานศึกษา
โดยมีสถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 26 มีนาคม 2563 ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ดังนี้
ในการนี้ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงมีนโยบายในการดำเนินการตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมอบหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ร่วมกับหน่วยทหาร, ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ดังนี้
1. การร่วมทำความสะอาด ฉีดพ่นฆ่าเชื้อในทุกพื้นที่ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ลดการสะสมของเชื้อโรค และเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โควิด-19
2. การร่วมกันประชาสัมพันธ์ ใน 196 อำเภอพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อแนะนำและรณรงค์แนวทาง การป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 รวมถึงแนวทางการทำความสะอาด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ตลอดจนเชิญชวนให้ประชาชนได้ร่วมมือกัน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”
3. การจัดตั้งจุดตรวจคัดกรอง ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อตรวจสอบว่าได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ หรือไม่ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, การนั่งในระยะห่างที่เหมาะสม, การตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงให้คำแนะนำในการปฏิบัติในมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
4. การตรวจสอบการกักตุนสินค้าและราคาสินค้า ตามร้านค้าทั่วไป, ตลาดสด และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเป็นการป้องกันการกักตุนสินค้าและการขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของประชาชน
5. การตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย ตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การห้ามเข้าไปพื้นที่เสี่ยง, การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค, รวมทั้งการห้ามการชุมนุม หรือ การมั่วสุม เป็นต้น
จึงขอให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้โปรดให้ความร่วมมือกับทางราชการ ในการปฏิบัติตามกฎหมาย และคำแนะนำทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ตลอดจนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ทางช่องทางที่เป็นทางการ โดยระบุแหล่งข่าวอ้างอิงเชื่อถือได้ อีกทั้งรณรงค์ให้ทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ไม่รวมกลุ่มกับผู้คนจำนวนมาก มีวินัยในการป้องกันโรคเพื่อตนเองและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!