ประจวบคีรีขันธ์-“เฉลิมชัย” ติดตามการทำหมันลิงเขาช่องกระจก ควบคุมประชากรลิงไม่ให้สร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนและนทท.
ภาพ/ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม โครงการการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าในเมืองโดยการควบคุมประชากรลิง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่บริเวณพื้นที่เขาช่องกระจก อ.เมือง จ.ประจวบฯ มี นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ให้การต้อนรับ
โดย รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งประกอบด้วยจุดตรวจคัดกรองสุขภาพลิง จัดทำประวัติ ก่อนดำเนินการทำหมันลิงทั้งเพศผู้และเพศเมีย จากนั้นจะมีการสักทำสัญลักษณ์ที่แขนของลิงที่ทำหมันแล้ว บางตัวหากตรวจพบเป็นโรคสัตวแพทย์จะให้ยารักษา ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 – 30 ธ.ค.67 มีเป้าหมายทำหมันลิงจำนวน 300 ตัว พร้อมกันนี้ ดร.เฉลิมชัยได้มอบถุงยังชีพเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมระบุว่า จะมีการเคลื่อนย้ายลิงแสมเขาช่องกระจกบางส่วนไปไว้ที่กรงพักพิงลิงที่ทางกรมอุทยานฯ ได้จัดเตรียมไว้ที่หัวหินเพื่อลดจำนวนลิงลง โดยโครงการการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าในเมืองโดยการควบคุมประชากรลิง เป็นไปตามนโยบายแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมประชากรลิงไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นจนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว.
นายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กระบวนการทำหมันลิงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาลิงแสมเขาช่องกระจก ซึ่งจะเขื่อมโยงไปถึงการดูแลคนและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยขณะนี้สามารถจับลิงมาทำหมันได้แล้วกว่า 100 ตัว จากเป้าหมาย 300 ตัว ซึ่งที่โรงพยาบาลสนาม จะมีการคัดกรอง จัดทำประวัติ ทำหมัน ทำบัตรประชาชนลิง จากประสบการณ์ที่ทำหมันลิงมา ลิงจะเป็นหมัน 100% ไม่มีการตั้งท้องอีก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญของปัญหาลิงคือการที่คนให้อาหารลิงอย่างไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่คนกินซึ่งมีรสชาติหวาน หอม มีพลังงานสูง ทำให้ลิงร่างกายแข็งแรง มีโอกาสขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นทำให้จำนวนประชากรลิงมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่วนการเคลื่อนย้ายลิงบางส่วนไปยังสถานที่ที่มีความเหมาะสมกว่า ทางกรมอุทยานฯ มีโมเดลที่ทำแล้ว ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อชุมชน รวมทั้งลิงเองก็จะปลอดภัย เพราะจากการตรวจสุขภาพลิงที่ รพ.สนาม พบว่าบางตัวมีลูกแก้วในคอ มีบาดแผลจากการโดนกัด ขนร่วงเป็นขี้เรื้อน บางตัวพบเป็นโรคไต สาเหตุจากอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมโดยเฉพาะด้านโภชนาการ ถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องดูแลสุขภาพ ปรับพฤติกรรม และหาพื้นที่เหมาะสมให้อยู่ หากมีการบริหารจัดการลิง คน สิ่งแวดล้อม เชื่อว่าเขาช่องกระจกจะเป็นแลนมาร์กสำคัญของ จ.ประจวบฯ โดยควรจะเหลือลิงไว้ในจำนวนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณอาหารในพื้นที่.