องคมนตรี เปิดงาน “ศิลปหัตถกรรมพื้นที่สูง และกัญชงของแม่” ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์

องคมนตรี เปิดงาน “ศิลปหัตถกรรมพื้นที่สูง และกัญชงของแม่” ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์

ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดเชียงใหม่

          องคมนตรี เปิดงาน “ศิลปหัตถกรรมพื้นที่สูง และกัญชงของแม่” ถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิถีและภูมิปัญญาแห่งชาติพันธุ์ ผ่านเส้นสายใยกัญชง อันทรงคุณค่าที่งดงาม สู่การสืบสานรักษาและพัฒนาให้ยั่งยืน

              วันนี้ (22 ส.ค. 65) ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ศิลปหัตถกรรมพื้นที่สูง และกัญชงของแม่” ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-31 สิงหาคม 2565 ภายใต้แนวคิด จากวิถีและภูมิปัญญาแห่งชาติพันธุ์ ผ่านเส้นสายใยกัญชง อันทรงคุณค่าที่งดงาม สู่การสืบสานรักษาและพัฒนาให้ยั่งยืน โดยมี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วย นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง , นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) , นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อการพัฒนาและยกระดับงานหัตถกรรมบนพื้นที่สูง และการพัฒนากัญชงสู่พืชส่งเสริมสำหรับประชาชน ทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลสำเร็จเรื่องงานวิจัย พัฒนา ส่งเสริมงานหัตกรรมและกัญชงของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงฯ ที่ได้ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งวางแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อสร้างเครือข่ายจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการผลักดันงานหัตถกรรมและงานกัญชง ให้เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

          ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ร่วมงาน เช่น เรื่อง “กัญชง จากพระราชเสาวนีย์ สู่พืชเศรษฐกิจ” , เรื่อง Next step “ทิศทางมูลค่า โอกาส และการผลิตกัญชงเชิงการค้า” ทั้งยังมีการเผยแพร่ผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาชนเผ่า การแสดงแบบชุดผ้าชนเผ่าและผลิตภัณฑ์กัญชง การประกวดกิจกรรม “เยาวชนสืบสานภูมิปัญญาลายผ้าชนเผ่า ” นิทรรศการ “ความก้าวหน้าของหัตถกรรมพื้นที่สูง และ 15 ปี กัญชงของแม่” และการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “กัญชงไทย สู่ประโยชน์ประชาชน : อาหาร เส้นใย การแพทย์” เป็นต้น

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!