ศรีสะเกษ-คืบหน้าน้ำพัดถนนขาดเร่งซ่อมพนังกั้นน้ำที่โดนน้ำท่วมซัดขาดยาวกว่า 35 เมตร
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ
คืบหน้าน้ำพัดถนนขาดเร่งซ่อมพนังกั้นน้ำที่โดนน้ำท่วมซัดขาดยาวกว่า 35 เมตรเชื่อมต่อ อ.ราษีไศล – ศิลาลาด คาดว่าใช้เวลา 2วัน ประเมินเบื้องต้น คาดว่านาข้าวที่กำลังตั้งท้องถูกน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 3500 ไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ถนนลาดยางเส้นทางระหว่างบ้านหนองบัวดง กับ บ้านทัพส่วย บริเวณท่าทรายรุ่งอรุณไปบ้านดงเค็ง ต.หนองบัวดง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ ห่างจากท่าทรายรุ่งอรุณประมาณ 600 เมตร ปรากฏว่า จากการที่ได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน ได้ทำให้มีมวลน้ำสะสมจำนวนมากไหลเชี่ยวกรากเข้าถล่มถนนลาดยางสายหลัก ซึ่งเป็นเส้นทางหลักจาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ไปยัง อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ทำให้ถนนลาดยางขาดเป็นระยะทางยาวประมาณ 30 เมตร รถราทุกชนิดไม่สามารถที่จะสัญจรผ่านไปมาได้ ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านบริเวณทุ่งหนองแห้ว ต.ด่าน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณถนนลาดยางเส้นทางระหว่างบ้านหนองบัวดง กับ บ้านทัพส่วย บริเวณท่าทรายรุ่งอรุณไปบ้านดงเค็ง ต.หนองบัวดง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ ซึ่งถูกน้ำพัดถนนขาด นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ติดตามกรณีเกิดเหตุกระแสน้ำจากลำน้ำเสียวพัดถนนขาดเส้นทาง อ.ราษีไศล-ศิลาลาด ซึ่งเป็นเส้นทางแยกจากถนนสายราษีไศล -โพนทราย ไปยังบ้านดงเค็ง ต.หนองบัวดง อ.ศิลาลาด ทำให้น้ำทะลักจากลำน้ำเสียวเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านในพื้นที่บ้านหนองแห้ว ต.ด่าน อ.ราษีไศล ประเมินเบื้องต้น คาดว่านาข้าวที่กำลังตั้งท้องถูกน้ำท่วมไม่ต่ำว่า 3,500 ไร่
นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวว่า ขณะนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ได้ร่วมกับ อำเภอ อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ประชาชนทุกภาคส่วน ได้เร่งซ่อมแซมถนนที่เป็นพนังกั้นน้ำที่ถูกตัดขาดให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว โดยใช้ก้อนหินขนาดใหญ่เทลงช่วงที่ถูกตัดขาดเกือบ 40 เมตร ลึก 8 เมตร ประเมินเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 200 รถบรรทุก ใช้เวลาประมาณ 3 วัน คงจะเสร็จดังเดิมและสามารถใช้สัญจรไปมาได้ปกติ ส่วนความเสียหายพื้นที่เกษตรกรรม มีทั้งนาข้าว กข 15 ซึ่งกำลังตั้งท้อง ถูกน้ำท่วมเสียหายแน่นอนหากแช่น้ำเกิน 5 วัน ขณะเดียวกันยังมีบ่อปลาบึกและปลาจาระเม็ดอีก 3 บ่อ ถูกน้ำท่วมจนปลาหนีออกไปกับสายน้ำทั้งหมด นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาการซ่อมพนังกั้นน้ำดังกล่าวที่ทำให้ล่าช้า คือ รถบรรทุกต้องถอยเข้าไปเทก้อนหินขนาดใหญ่ เพราะการกลับรถด้านก่อนพนังน้ำขาดค่อนข้างลำบาก อีกทั้ง รถพ่วงไม่สามารถเข้าไปได้ จึงทำให้การเทหินและการซ่อมมีความล่าช้า แต่ได้กำชับให้ทำการซ่อมให้เสร็จภายใน 2 วัน เพื่อป้องกันความเสียหายของนาข้าวในส่วนที่ยังไม่ท่วม ด้านการช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม หลังซ่อมพนังกั้นน้ำเสร็จ จะมีการประเมินอีกครั้ง ว่า ต้องมีการสูบน้ำออกหรือไม่ จึงต้องประเมินและตรวจสอบข้อเท็จจริงภายหลังซ่อมพนังกั้นน้ำเสร็จแล้วอีกครั้งหนึ่ง