ปราจีนบุรี – ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี อวดโฉมเหนือฟ้าเมืองเชียงใหม่

ปราจีนบุรี – ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี อวดโฉมเหนือฟ้าเมืองเชียงใหม่

ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ

เมื่อเวลา 05.30 น.วันนี้ 28 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่าได้รับแจ้งจาก งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี” บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา นับเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตดาวพฤหัสบดีในช่วงนี้ ปรากฏชัด สุกสว่างทางทิศตะวันออก ในช่วงหัวค่ำ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

              นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันที่ 27 กันยายน 2565 ถือเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2506 มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 591 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป เห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์บริวารทั้ง 4 ดวงได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างถัดจากดาวพฤหัสบดีไปทางทิศตะวันตกอีกด้วย สำหรับบรรยากาศกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่จุดสังเกตการณ์หลัก ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ท้องฟ้าเป็นใจ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีปรากฏอวดโฉมให้เห็นชัดเจนทางทิศตะวันออก สามารถมองเห็นชัดด้วยตาเปล่า เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์เห็นแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารครบ 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด คัลลิสโต อย่างชัดเจน ชาวเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก ขณะที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย มีเมฆมากไม่สามารถสังเกตการณ์ได้หลังจากนี้ ดาวพฤหัสบดีจะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงค่ำคืนจนถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และจะเข้ามาใกล้โลกครั้งต่อไปในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2565 ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามอีกหลายปรากฏการณ์ อาทิ จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 8 พฤศจิกายน ดาวอังคารใกล้โลกในวันที่ 1 ธันวาคม และฝนดาวตกเจมินิดส์ในวันที่ 14 ธันวาคม ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ www.facebook.com/NARITpage นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!