ประจวบคีรีขันธ์ – ทม.หัวหิน ยกระดับการศึกษาโรงเรียนในสังกัดรูปแบบโรงเรียนสาธิต
ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
ทม.หัวหิน ยกระดับการศึกษาโรงเรียนในสังกัดรูปแบบโรงเรียนสาธิต
เมื่อวันที่ 28 ก.ย.นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย น.ส.บุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นางวาสนา ศรีกาญจนา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหิน ร่วมแถลงข่าวการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบโรงเรียนสาธิต มี คณะผู้บริหารเทศบาลฯ ส.ท. ปลัดเทศบาล ผอ.สถานศึกษา คณะครูและนักเรียน เข้าร่วมรับฟังที่ห้องประชุม สำนักงานเทศบาลเมืองหัวหิน พร้อมชมการแสดงละครเวทีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ การจัดแสดงผลงานของนักเรียน การแนะนำเครื่องแต่งกายนักเรียนรูปแบบใหม่ของโรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหิน โดย นายบุญทวี บุญให้ ผอ.โรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหิน นายนพพร กล่าวว่า การจัดการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติ จึงมีความต้องการที่จะให้ผลผลิตทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองหัวหินมีคุณภาพที่สูงขึ้นจากเดิม โดยเพิ่มความเข้มข้นทางวิชาการจึงเป็นที่มาของการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบโรงเรียนสาธิต การเป็นโรงเรียนสาธิตนั้นจำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคณะศึกษาศาสตร์หรือคณะครุศาสตร์เข้ามาดำเนินการและการกำกับติดตาม ตั้งแต่การจัดทำหลักสูตรที่เข้มข้นร่วมกันฝึกอบรมเทคนิคการสอนให้กับครูผู้สอน การพัฒนานวัตกรรมและสื่อการสอน การวิจัยและพัฒนารูปแบบการสอนให้ทันสมัย ซึ่งเทศบาลเมืองหัวหินได้ลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เขตสนามจันทร์ จ.นครปฐม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ร่วมลงนามเพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยกันพัฒนา เมื่อวันที่ 6 ก.ย.65
“เทศบาลเมืองหัวหิน เลือกโรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหินเป็นโรงเรียนนำร่องในการพัฒนาการศึกษาด้วยรูปแบบสาธิต เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ ด้านวิชาการ และด้านการบริหาร เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง โดยเริ่มจัดการศึกษาด้วยรูปแบบสาธิติในปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน” และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายนักเรียนและครูเป็นรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นไปตามอัตลักษณ์และวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษารูปแบบโรงเรียนสาธิต การใช้คำว่า “สาธิต” มานำหน้าเทศบาลบ้านหัวหินนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลศึกษาถึงมัธยมศึกษาให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถและมีทักษะกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันและอนาคต เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนานักเรียน พัฒนาครู ในการสร้างความเป็นเลิศเฉพาะทาง ด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม ภาษา ดนตรี กีฬา ศิลปวัฒนธรรม โครงงานและสิ่งประดิษฐ์ระหว่างโรงเรียนและสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานักเรียนและครูให้มีคุณภาพมากขึ้น” นายนพพร กล่าว.