อุทัยธานี-สืบสานประเพณีตักบาตรเทโวอย่างยิ่งใหญ่
ภาพ/ข่าว:วราภรณ์ หนูกลัด
จังหวัดอุทัยธานีสืบสานประเพณีตักบาตรเทโวอย่างยิ่งใหญ่ พระภิกษุสงฆ์ 500 รูป เดินลงบันได 449 ขั้น มาจากยอดเขาสะแกกรัง เปรียบเสมือนเป็นบันไดแก้วสู่สังกัสนครในพุทธกาลปีละครั้งที่นี่ที่เดียวในโลก
ที่จังหวัดอุทัยธานี เช้าวันนี้ ( 11 ต.ค. ) โดยพิธีเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น.มีนายพีระพล ตัณฑโอภาส นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขต 2 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี ผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่ประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 หัวหน้าส่วนราชการ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และพุทธศาสนิกชนร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น ซึ่งงานประเพณีตักบาตรเทโว จังหวัดอุทัยธานี ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดและมีความสอดคล้องกับพุทธประวัติ พุทธตำนานอย่างยิ่ง โดยสมมติให้มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสะแกกรังเป็น “สิริมหามายากุฎาคาร” มีบันไดทอดยาวจำนวน 449 ขั้น นำด้วยพระพุทธรูป ปางเปิดโลก เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ และจะมีพระสงฆ์จำนวน 500 รูป เดินตามลงมาจากยอดเขาสะแกกรัง
ซึ่งถือว่าเป็นบันไดแก้วสู่สังกัสสนคร คือวัดสังกัสรัตนคีรี อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ลงมารับบิณฑบาตข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวต้ม ลูกโยน จากพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ ณ ลานวัดหน้าวิหารหลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ วัดสังกัสรัตรคีรี ที่หลั่งไหลมาร่วมทำบุญใส่บาตรในครั้งนี้กันอย่างเนืองแน่น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสืบสานประเพณีตักบาตรเทโวให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามประทับใจ และจัดได้ยิ่งใหญ่มากที่สุดในประเทศไทย
และเป็นที่น่าเสียดายว่าปีนี้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองอุทัยธานี จึงต้องงดจัดกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งต้องพาดชมขบวนแห่พุทธบูชา มหาสังฆทาน ขบวนพระพุทธรูปปางประจำวัน จากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอ ที่จะมีการตกแต่งขบวนอย่างสวยงาม ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชม นอกจากนี้ยังต้องพาดชม ที่บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ คหบดี จะตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดับด้วยงาช้างอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ซึ่งเป็นมรดกลำค่าจากบรรพบุรุษที่เคยจัดตั้งโชว์อย่างสวยงามในงานสืบสานประเพณีเทโวของทุกปี โดยในอดีตงาช้างเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละบ้าน เนื่องจากคหบดีในอุทัยธานีจะเลี้ยงช้างไว้ลากซุงในป่า และเมื่อช้างล้มก็จะนำงาช้างมาประดับโต๊ะหมู่บูชา เพื่อเสริมบารมี และเป็นสิริมงคล