ตาก-ชาวปกาเกอะญอ500คนร่วมงานวันอนุรักษ์ช้างไทย
ภาพ/ข่าว:ชวลิต วิกุลชัยกิจ
ชาวปกาเกอะญอ อ.พบพระ กว่า500คน ร่วมงานวันอนุรักษ์ช้างไทย ที่บ้านเพราะช้างหมู่บ้านยะพอ หมู่ที่ 5 ตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
วันนี้( 13 มีนาคม 2563) ผู้นำชาวปกาเกอะญอ พร้อมควาญช้างนำช้างจำนวน 23 เชือกซึ่งเป็นช้างโขลงสุดท้ายของหมู่บ้านมาร่วมกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์ช้างไทย ประจำปี 2563 โดยมี ร.ท.เฉลิม บุญพรวงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวาเล่ย์ พร้อมทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยะพอ ผู้อำนวยการโรงเรียนพบพระวิทยาคม หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ อส. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อบต.วาเล่ย์ และพี่น้องประชาชน กว่า 500 คนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ “บ้านเพราะช้าง”ที่บ้านยะพอ หมู่ที่5 ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก
ทั้งนี้ก่อนการจัดงานหนึ่งวันควาญช้างได้เข้าป่าเพื่อหาสมุนไพรหลากหลายชนิด เช่น บอระเพ็ด ตูมกาขาว ส้าน ผักหนาม ข้าวเปลือก กล้วย และมะขาม มาตำและคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อนเพื่อทำวิตามินให้ช้างได้กิน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีสรรพคุณเป็นทั้งยาระบายและทำให้ช้างเจริญอาหาร โดยการจัดงานในวันนี้มีทั้งคนในและนอกหมู่บ้านเข้าร่วมงานกว่า 500 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวหลายคนต่างรู้สึกตื่นเต้นที่ได้นั่งบนหลังช้างเป็นครั้งแรก จึงต้องนำโทรศัพท์มาถ่ายภาพเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ด้านนาย อดิศร พรไพรสณฑ์ ควาญช้างรุ่นที่สองของหมู่บ้าน วัย 28 ปี เล่าว่า ตนเองฝึกเลี้ยงช้างจากพ่อ ปัจจุบันช้างในหมู่บ้านเหลือน้อยมากเนื่องจากแหล่งอาหารของช้างมีไม่เพียงพอ ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูแล้งแหล่งอาหารของช้างเหลือน้อยโดยเฉพาะหญ้าสดและผลไม้ ซึ่งชาวบ้านพยายามต่อสู้เพื่อรักษาช้างโขลงสุดท้ายของหมู่บ้านไว้ โดยสร้างปางช้างชื่อ ”บ้านเพราะช้าง “เปิดให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตของช้างและคนเลี้ยงช้างอย่างใกล้ชิด และอยากวิงวอนให้ภาครัฐช่วยเหลือส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้ทั้งควาญช้างและช้างมีงานทำ ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์ช้างไทยให้อยู่กับหมู่บ้านชายแดนแห่งนี้ตลอดไป
นายจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานตาก กล่าวว่า การจัดงานวันช้างไทยของชาวปะกาเกอะญอบ้านยะพอ อ.พบพระ และชาวปะกาเกอะญอบ้านปูเต้อ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมารวมตัวกันจัด ณ ที่แห่งเดียวกันในวันนี้ นอกจากจะเป็นการสืบสานงานประเพณีดั่งเดิมของท้องถิ่นแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถได้เรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของช้าง มาช่วยกันทำวิตามินบำรุงช้างจากพืชสมุนไพรในท้องถิ่น มาให้อาหารช้างแบบบุฟเฟ่ มาอาบน้ำให้ช้าง ตลอดจนเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นโดยตรงอีกด้วย ซึ่งคาดว่าในปีหน้า ทาง ททท.สำนักงานตาก จะเสริมกิจกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นให้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำจุดแข็งมาเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวต่อไป