สุพรรณบุรี-อาชีพเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านดงขี้เหล็กปลูกเผือกสร้างรายได้ปลดหนี้ซื้อที่เพิ่ม

สุพรรณบุรี-อาชีพเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านดงขี้เหล็กปลูกเผือกสร้างรายได้ปลดหนี้ซื้อที่เพิ่ม

ภาพ/ข่าว:มงคล สว่างสว่างศรี ภัทรพล พรมพัก ธนกฤต แตงโสภา
นพดล แก้วเรือง ไพรัช ภมรพล โสภณ สว่างศรี นิกร สิงห์พิมาตร ดนัยภพ สังข์สุวรรณ ธีรพร ชูก้าน 

อาชีพเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านดงขี้เหล็กปลูกเผือกสร้างรายได้ปลดหนี้ซื้อที่เพิ่ม

                จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองเกษตรกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก เมื่อก่อนน้ำท่าอุดมสมบูรณ์นาข้าได้ผลผลิตดี ขายข้าวได้ราคาดี เกษตรกรสามารถทำนาปี 2-3 ครั้ง ต่อมาเกิดวิกฤติภัยแล้ง ราคาข้าวตกต่ำ เกษตรกรที่ทำนาจากที่เคยมีเงินเหลือเก็บต้องกลายเป็นหนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันทั่วทุกภาคของประเทศกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย รัฐบาลประกาศขอให้เกษตรกรหยุดทำนา ให้หันมาทำการเกษตรปลูกพืชใช้น้ำน้อย เกษตรกรเป็นหนีสินมาอย่างต่อเนื่องต่างท้อแท้หมดหวัง การปลูกเผือกเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกนาข้าว แต่การปลูกเผือกต้องลงทุนมากว่าการทำนาและใช้ระยะเวลานานกว่าการทำนา จึงจะเก็บผลผลิตได้แต่ก็จะได้ผลกำไรดีกว่าการทำนาปลูกข้าว

              ทางด้านนางอำนวย ผลวงษ์ หรือเจ๊ตุ๊ อายุ 58 ปี เกษตรกรชาวบ้านดงขี้เหล็ก หมู่ 4 ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่าที่ผ่านมาตนและ น.ส.ณัฐณิชา ผลวงษ์ อายุ 38 ปี บุตรสาว เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมครอบครัวจากเดิมประกอบอาชีพทำนาแล้วขาดทุนทำให้มีหนี้สินกว่า 3,000,000 บาท แต่ตนพร้อมลูกๆ ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและดินฟ้าอากาศ หลังจากทำนาขาดทุน จึงได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหันมาทดลองปลูกเผือกแทนการทำนาข้าวในพื้นที่ทำนาเดิม โดยเริ่มต้นทำครั้งแรกทดลองทำเผือกจำนวน 2 ไร่ เริ่มด้วยการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ยังไม่มีความรู้เรื่องการปลูกเผือก เนื่องจากตั้งแต่บรรพบุรุตมาก็ทำแต่นาข้าว ตนและบุตรสาวจึงค่อยๆศึกษา เริ่มต้นจากการเตรียมดินก่อน
โดยการไถตากดินใช้เวลาประมาณ 15 วันหรือหรือถ้ามีเวลาตากนานยิ่งดี เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดินและให้ปรับสภาพหน้าดินที่อาจจะมีสารตกค้างในดิน เชื้อราต่างๆ เมื่อครบกำหนด ก่อนลงมือทำแปลงก็จะนำปูนขาวมาโรยหรือใส่อินทรีย์ชีวภาพรองพื้นเป็นการเพิ่มสารอาหารในดิน จากนั้นก็จะสูบน้ำใส่ ตีดินเตรียมแปลงขั้นตอนนี้เหมือนการทำนา หลังจากเตรียมแปลงเสร็จก็นำลูกเผือกมาปลูกเหมือนการดำนา โดยใช้เชือกขึงวัดระยะความห่างระหว่างต้น ให้มีความเหมาะสมเพื่อการเจริญเติบโตของต้นและหัวของเผือก ถ้าปลูกชิดกันมากเผือกก็จะหัวไม่ใหญ่ไม่ได้น้ำหนัก การใช้ลูกเผือกโดยเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 8,500-9,000 ต้น ซึ่งเผือกจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน จึงสามารถเก็บผลผลิตได้

            สำหรับขั้นตอนหลังจากปลูกดำเสร็จก็จะคอยดูเรื่องน้ำ การให้ปุ๋ย สังเกตอาการของโรคพืชและแมลง ที่จะตามมา พร้อมกับจัดหายามาฉีดพ่น การทำไร่เผือกนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เหมือนกับการปลูกข้าว การปลูกเผือกลงทุนสูงกว่าการทำนา ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะนานกว่า ส่วนข้อดีของเผือกใช้น้ำน้อยครั้งแรกช่วงที่เตรียมแปลงจะใช้เยอะหน่อยเหมือนนาข้าว แต่พอเผือกเริ่มโต จะโปะดินโคนต้นเผือก เพื่อยกร่อง จากนั้นก็จะใช้น้ำน้อยกว่านาข้าว นับว่าเผือกนั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่านาข้าว ในช่วงภัยแล้งมีน้ำน้อย การทำไร่เผือกถึงแม้ต้นทุนจะสูงกว่านาข้าว เนื่องจากต้องลงทุนซื้อลูกเผือก จ้างคนมาปักดำ แทงดินโปะโคนยกร่องจนถึงการเก็บผลผลิต แต่ผลที่ได้รับนั้นดีกว่ากันมาก ก่อนหน้านี้ที่บ้านทำนานับร้อยไร่ แต่ผลที่ได้แค่เสมอตัวยิ่งมาระยะหลังข้าวราคาตกต่ำ จึงตัดสินใจเปลี่ยนจากการทำนามาทำไร่เผือก โดยเริ่มต้นทำจาก 2 ไร่ เพื่อเป็นครูตัวเอง เนื่องจากไม่เคยมีความรู้เรื่องเผือก
             หลังจากที่ทดลองทำ 2 ไร่ ผลปรากฏว่าได้ผลดีกว่าทำนาข้าวมีกำไรเหลือมากกว่าทำนาข้าวอีก ต่อมาจึงได้ขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 8 ไร่หลังจากทำไร่เผือกได้ 4 ปี สามารถปลดหนี้จากการทำนากว่า 3,000,000 บาท แล้วยังมีเงินเหลือเก็บและซื้อที่ดินเพิ่มอีก 7 ไร่ ปัจจุบัน ทำไร่เผือกเพิ่มขึ้นอีกเป็น 40 ไร่ คาดว่ารุ่นนี้คงมีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้นอีก จึงอยากแนะนำพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาลองหันมาทำไร่เผือกดูบ้าง ช่วงแรกอย่าเพิ่งทำเยอะทดลองซัก 2 ไร่ก่อน เพื่อจะได้ศึกษาเรียนรู้ปัญหาก่อน เมื่อคิดว่าประสบผลสำเร็จแล้ว ค่อยขยายพื้นที่รับรองว่าได้ผลดีกว่านาข้าวแน่นอน เมื่อผลผลิตออกจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด สำหรับราคา จะเริ่มต้นกิโลกรัมละ 25-40 บาท แล้วแต่ขนาด เผือกหัวใหญ่จะได้ราคาสูง ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรที่ทำนาบางส่วนได้เริ่มหันมารองทำไร่เผือกกันมากขึ้นแล้ว

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!