อุบลราชธานี-จัดกิจกรรมจิตอาสาฯ วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ภาพ/ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ที่บริเวณสวนสาธารณะกุดปลาขาว อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา เนื่องในวันสำคัญของชาติไทย วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรมโดยได้ร่วมกันพัฒนาทำความสะอาด ตัดแต่งกิ่งไม้ กวาดใบไม้ เก็บกวาดขยะ ปรับภูมิทัศน์ให้มีความสะอาด สวยงาม รวมถึงการกำจัดวัชพืช ผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณกุดปลาขาวที่เป็นทางน้ำสาขาของแม่น้ำมูล เพื่อให้การระบายน้ำสะดวกขึ้น รองรับฤดูน้ำหลากในช่วงนี้ และยังแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที และร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอีกด้วย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชโอรส ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศ และพสกนิการชาวไทยเป็นอย่างมาก อาทิ การลดส่วยและงดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเป็นเวลา 3 ปีเศษ การประกาศใช้กฎหมายพระราชกำหนดและกฎหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้องการส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม หนังสือที่แต่งในสมัยนี้ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงทศรถสอนพระราม โคลงพาลี-สอนน้อง โคลงราชสวัสดิ์ เพลงพยากรณ์กรุงเก่า เพลงยาวบางบท รวมถึงวรรณกรรมชิ้นสำคัญ คือ โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็น ยุคทองแห่งวรรณกรรม ของไทยยุคหนึ่ง การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่และพม่า พ.ศ.2203 และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมาอยุธยาด้วย
ส่วนด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น เจริญรุ่งเรืองมากทั้งประเทศตะวันออก เช่น จีน อินเดีย และประเทศตะวันตกที่สำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส ทั้งด้านการเชื่อมสัมพันธไมตรีและการป้องกันการคุกคามจากชาติต่างๆ เหล่านี้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังกล่าว จึงทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง อีกทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมยุคหนึ่งด้วย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 ที่เมืองลพบุรี ราชธานีแห่งที่สองที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น