ชุมพร-อดีตนายกฯ อบจ. ถือฤกษ์ 9 โมง 9 นาที ลงสมัครรับเลือกตั้ง ”นายก อบจ.ชุมพร“ วันสุดท้าย
ภาพ/ข่าว:ประสิทธิ์ ลีฬหคุณากร
เมื่อเวลา 09.09 น. วันนี้ (17 ส.ค. 67) ณ ชั้น 3 ห้องประชุมกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อบจ.ชุมพร ต.ท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร นายนพพร อุสิทธิ์ อดีตนายก อบจ.ชุมพรและทีมงานก็เดินทางมาถึงสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร โดยมี ว่าที่ ว่าที รต.ธีรยุทธ์ ธีระโสพิศ ปจ.อบจ.ชุมพร ปลัด อบจ.ชุมพร ปฎิบัติหน้าที่ นายกฯ อบจ.ชุมพรและเจ้าหน้าที่รับสมัครลงชิงตำแหน่ง นายก. อบจ.ชุมพร ในขณะที่ด้านล่างอาคารรับสมัคร ก็มีประชาชนและผู้สนับสนุนทีม “พลังชุมพร” มาให้กำลังใจนับพันคนจนแน่นถนนรอบอาคารที่รับสมัคร สำหรับการรับสมัครลงชิงตำแหน่ง นายก. อบจ.ชุมพร ในวันนี้ เป็นสุดท้ายและผู้สื่อข่าวได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่รับสมัคร นายก. อบจ.ชุมพร ก็ได้รับทราบว่ายังไม่มีใครมารับสมัคร เพราะได้เปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 13 – 17 สิงหาคม 2567 แต่ก็ต้องรอเวลา 16.30 น. ในวันนี้ ถึงจะสรุปได้ว่ามีผู้สมัครลงชิงชัย นายก อบจ.ชุมพร กี่คน ทำให้ นายนพพร อุสิทธิ์ ว่าที่ผู้สมัครมาสมัครเป็นท่านแรกจึงทำให้ได้หมายเลข 1 ไปในการชิงชัย นายก อบจ. ชุมพรในหนนี้
นายนพพร อุสิทธิ์ กล่าวว่า “ผมถือฤกษ์วันที่ 17 สิงหาคม 2567 เวลา 9.09 น. ลงสมัครชิงตำแหน่ง นายก อบจ.ชุมพรในครั้งนี้ได้หมายเลข 1 ถือว่าเป็นความตั้งใจ เพราะผมเคยได้รับเสียงจากประชาชนมาแล้วครั้งที่ผ่านมา ในรอบนี้ผมจึงมีความตั้งใจที่จะมารับใช้พี่น้องชาวชุมพรอีกครั้ง เพราะยังมีงานที่คั้งค้างอยู่และจะสอดคล้องกับนโยบายในครั้งที่แล้ว เพราะจังหวัดชุมพรยังต้องมีการพัฒนาอีกหลายๆเรื่อง ผมจึงมีความตั้งใจเสนอตัวมาลงสมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ.ชุมพร ในวันนี้และผมก็ได้หมายเลข 1 ก็ถือว่าเป็นเลขมงคลซึ่งผมก็ตั้งใจไว้ครับ ส่วนการที่จะมีคู่แข่ง หรือไม่คู่แข่งนั่นก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะผมไม่ได้อยู่กับที่ ได้ลงไปพบปะชาวบ้านมาตลอด ผมจึงคิดว่าเราแข่งกับตัวเอง เราอย่าไม่ดูถูกประชาชนเลย ส่วนที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ลาออกจากตำแหน่ง นายก. อบจ.ชุมพร เป็นประเด็นทางการเมือง ก็มีหลายจังหวัดนะที่มีการลาออก จะใช่ หรือ ไม่ใช่ ก็อยู่ที่บริบทของจังหวัดแต่ละจังหวัด แต่ที่ชุมพรนะไม่ใช่ เพราะผมลาออกในช่วง 180 วัน ก็ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ส่วนบางคนอาจจะมองว่า เป็นการสิ้นเปลื้องงบประมาณ ผมมองว่าเราบริหารจัดการงบประมาณในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งงบประมาณปี 66 และ ปี 67 เราบริหารจนทำให้ได้เงินเหลือจ่ายมาจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่ได้เบียดบังงบประมาณอะไร สำหรับเหตุการณ์สูญญากาศทางการเมืองของชุมพร เราไม่มีอย่างแน่นอน เพราะเรายังมีสภาขับเคลื่อนนโยบายคอยตรวจสอบการทำงานของส่วนราชการอยู่ เช่นเดียวกัน เมื่อสภาหมดวาระ ก็ยังมีนายก อบจ.ชุมพร มาควบคุมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อยู่ เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าฤดูมรสุมเกิดเมื่อใด แต่เมื่อเกิดเหตุอย่างน้อยก็ยังมีการสั่งการได้ มีเครื่องจักร มีบุคคลากร มีการเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่มีข้อจำกัดของกฎหมายมาเป็นอุปสรรค์การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนแต่อย่างใด” นายนพพร อุสิทธิ์ กล่าวปิดท้าย