ประจวบคีรีขันธ์-พอช.จัดงบ 11.3 ล้านบาท ซ่อมบ้านผู้ด้อยโอกาส 595 ครัวเรือน

ประจวบคีรีขันธ์-พอช.จัดงบ 11.3 ล้านบาท ซ่อมบ้านผู้ด้อยโอกาส 595 ครัวเรือน

ภาพ/ข่าว:พิสิษฐ์ รื่นเกษม

          วันที่ 8 ม.ค. 2566 ได้รับการเปิดเผยจาก นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.65 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลคลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์การมหาชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดเวทีสร้างความเข้าใจเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การสร้างความเข็มแข็งขบวนองค์กรชุมชน และการสร้างความร่วมมือหุ้นส่วนการพัฒนาแผนงาน โครงการระดับตำบลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปี 2566 ซึ่ง พอช.ได้สนับสนุนเงบประมาณในการจัดทำโครงการต่างๆลงในพื้นที่แต่ละตำบล ใน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเสริมสร้างขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด 2.โครงการบ้านพอเพียง ปี 2566 3.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท และ 4.โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริต ( พื้นที่เดิมปี 2565 ) โดยมี นายทวีศักดิ์ จุลเนียม ประธานเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตจังหวัดประจวบฯ นายภัทรดนัย สมศรี ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแสงอรุณ อ.ทับสะแก ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ทั้ง 8 อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) คณะทำงานประสานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด เข้าร่วม
          นายวัชรินทร์ จันทร์เดช กล่าวว่า การพัฒนาสังคมแห่งความสุข ผ่านแผนพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการสร้างความเข็มแข็งของขบวนสภาองค์กรชุมชน ให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างพื้นที่กลางทางสังคม สู่การมีส่วนร่วมการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาขับเคลื่อนแผนพัฒนาที่มีความสุขและยั่งยืน วันนี้จึงจัดเวทีสร้างความเข้าใจ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเข็มแข็งขบวนองค์กรชุมชน สร้างความร่วมมือหุ้นส่วนการพัฒนาแผนงานโครงการระดับตำบลจังหวัด ปี 2566 มี 1.โครงการเสริมสร้างขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1.1) ตำบลรูปธรรมแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จำนวน 9 ตำบล ได้แก่ อ.เมือง มี ( ต.อ่าวน้อย , ต.คลองวาฬ , ต.เกาะหลัก , ต.บ่อนอก ) อ.ปราณบุรี ( ทต.เขาน้อย) อ.สามร้อยยอด ( ต.ศาลาลัย , ต.สามร้อยยอด ) อ.กุยบุรี ( ต.หาดขาม ) อ.บางสะพาน ( ทต.บ้านกรูด ) 1.2) ตำบลพัฒนาและยกระดับคุณภาพสภาองค์กรชุมชน จำนวน 6 ตำบล ได้แก่ อ.หัวหิน ( ทม.หัวหิน , ต.ทับใต้ ) อ.ปราณบุรี ( ทต.ปากน้ำปราณ . ต.ปากน้ำปราณ ) อ.กุยบุรี ( ทต.กุยบุรี , ต.เขาแดง ) , 2.โครงการบ้านพอเพียง ปี 2566 จำนวน 38 ตำบล งบประมาณซ่อมแซมบ้าน ครัวเรือนละ 19,000 บาท รวมทุกๆตำบลแต่ละอำเภอ มีครัวเรือนได้รับค่าซ่อมแซมบ้านเรือนทั้งหมด 595 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,300,000 บาท กระจายไปยังหมู่บ้านและตำบล อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ มี , 3. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 4 ตำบล ได้แก่ อ.หัวหิน ( ต.บึงนคร , ทต.หนองพลับ ) อ.ปราณบุรี ( ต.เขาจ้าว ) อ.สามร้อยยอด ( ต.ศิลาลอย ) ในส่วน 4.โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริต จำนวน 24 ตำบล (พื้นที่เดิมปี 2565 ) ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2565 ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในแต่ละพื้นที่ทั้ง 24 ตำบล ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนงานของภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต และได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
          นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดฯ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา คน ชุมชน และสังคมไทย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง และผลกระทบมีระดับรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น วิกฤติเศรษฐกิจ การเงิน ความขัดแย้งและเหตุจลาจลทางการเมือง ภัยพิบัติ อุทกภัย และภัยแล้ง กับเหล่านี้มีแนวโน้นจะมีความถี่และความรุณแรงมากขึ้น แนวคิดเรื่อง “ความมั่นคงของมนุษย์” จึงมีความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมให้แก่คน ชุมชน และสังคมให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย ภายใต้สถานการณ์ทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นปัญหาอันดับตันของประเทศ จัดเป็นต้นทางของปัญหาที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา
          ทั้งนี้ แต่ด้วยเงื่อนไขความทับซ้อนของปัญหาที่มีมูลเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร รวมถึงระบบการเมืองการปกครอง ล้วนแล้วแต่อยู่ในเงื่อนไขความทับซ้อนของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการพัฒนา “การพัฒนาระบบการจัดการทางสังคมแบบองค์รวม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส” เพื่อรวมพลังภาคีการพัฒนา ทั้งองค์กรภาดรัฐและเอกชน สร้างระบบจัดการทางสังคมแบบองค์รวม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ที่ตรงตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งให้ความสำคัญกับการเป็นสังคมแห่งโอกาส ตามแนวคิดยุทธศาสตร์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระยะ 5 ปี ตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงบริการทางสังคมบนพื้นฐานความพอเพียง เป็นการกำหนดแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนด้วยข้อจำกัดในการพัฒนาทั้งระบบงบประมาณ ระเบียบข้อกฎหมาย หรือบุคลากรไม่เพียงพอต่อการพัฒนา หลายครั้งที่ไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การปรับวิธีคิดเป็นการดำเนินการที่คนยกระดับการพัฒนาสังคมสงเคราะห์ สู่การจัดการทางสังคมแบบองค์รวมครอบคลุมการพัฒนาทุกมิติโดยใช้การจัดการทางสังคมเป็นแกนกลาง ปรับวิธีคิดจากผู้รับประโยชน์เป็นผู้กำหนดทิศทาง หน่วยงานของรัฐเป็นผู้สนับสนุนใช้พลังจากชุมชน ที่มีวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาพื้นถิ่น เป็นต้นทุนในการพัฒนา เป็นที่มาของแนวคิด การพัฒนาระบบการจัดการทางสังคมแบบองค์รวมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!