กาญจนบุรี-ปล่อยแถวขบวนยานพาหนะของหน่วยงานต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
ภาพ/ข่าว:รักษพล พุ่มพฤกษ์
พ่อเมืองเป็นประธานการปล่อยแถวขบวนยานพาหนะของหน่วยงานต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
วันที่ 28 ก.พ.63 เวลา 11.00 น. ที่ ลานหน้าศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในขั้นตอนการตรวจสภาพความพร้อม และการปล่อยขบวนยานพาหนะของหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2563 พร้อมด้วย ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ผู้แทนผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้เข้ารับการตรวจสภาพความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2563 และประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
จังหวัดกาญจนบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน ๒๒ จังหวัด จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่สำคัญ 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ ๑ การตรวจความพร้อมเป็นส่วนรวม ประกอบด้วย การตรวจสายการบังคับบัญชา การตรวจการติดต่อสื่อสาร การตรวจยานพาหนะของกำลังพลทุกภาคส่วน จำนวนทั้งสิ้น 250 คน หน่วยที่เข้ารับการตรวจความพร้อม จำนวน 13 หน่วย ยานพาหนะ 39 คัน
ขั้นตอนที่ ๒ การปล่อยขบวนยานพาหนะ ของหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เมื่อขบวนผ่านหน้าท่านประธานและแสดงความเคารพแล้ว ทุกหน่วยงานจะเคลื่อนขบวนออกจากพื้นที่ศาลากลางจังหวัด และเดินทางเข้าสู่พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เพื่อดำเนินการปฏิบัติตามแผนของแต่ละอำเภอ ตามที่ได้วางแผนเตรียมการปฏิบัติการต้านภัยแล้งไว้แล้ว ทั้งนี้ การปฏิบัติในทุกขั้นตอนได้มีการน้อมนำแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานเมื่อครั้งการช่วยเหลือเยาวชนที่พลัดหลงบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน แผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวมทั้งทรงมีพระราชดำริในเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินในโครงการที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ดูแล หากจำเป็นต้องมีการขุดบ่อ สระ อ่างเก็บน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในระยะเร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ในอนาคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาส่วนรวมของประเทศที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา และเน้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนและจิตอาสาพระราชทาน ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สามารถนำพาทุกภาคส่วนสนธิกำลังและเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ รวมถึงงบประมาณที่มีอยู่ในหน่วยงานดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของตนเองได้ในระดับชุมชน และจะเป็นต้นแบบในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/