เชียงใหม่-ดูงานการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City
ภาพ/ข่าว:ศราวุธ เจิมจันทร์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฏร ศึกษาดูงานการดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่บริเวณถนนนิมมานเหมินท์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และการบริหารจัดการเมือง
วันนี้ (17 มี.ค. 63) นายไพจิต ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฏร พร้อมคณะ เดินทางมาศึกษาดูงานการดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ
นายไพจิต ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อศึกษาดูงานการดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน โดยในระยะแรกได้พัฒนาแล้วในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายในปี 2565 จะขยายไปทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร รวมกว่า 100 พื้นที่
ด้าน นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2559 ซึ่งเริ่มดำเนินการในพื้นที่บริเวณถนนนิมมานเหมินท์ และจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นย่านที่เป็น Cashless Society มีการให้บริการการจ่ายเงินผ่าน QR Code พร้อมเพย์ อาลีเพย์ และบัตรเครดิตได้ในทุกร้านค้าในย่านนิมมานเหมินท์ นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการเสริมสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการนำสายไฟ สายสื่อสาร และระบบสาธารณูปโภคลงใต้ติด แต่ยังขาดงบประมาณด้านโยธา อาทิ การขุดเจาะ ร้อยท่อใต้ดิน เป็นเงินประมาณ 130 ล้านบาท ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากทุกอย่างจะต้องดำเนินการพร้อมกัน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจต่างๆ แต่ได้ดำเนินการติดตั้งจุดจอดรถ Smart parking เพื่อตรวจจับรถที่จอดทับเส้นขาว-แดง และเพิ่มความคล่องตัวในการจราจร นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังได้ดำเนินการ Smart City ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยอีกด้วย