ปทุมธานี-รพ.ธรรมศาสตร์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อก่อนรับผู้ป่วยโควิดที่รพ.สนาม

ปทุมธานี-รพ.ธรรมศาสตร์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อก่อนรับผู้ป่วยโควิดที่รพ.สนาม

ภาพ/ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา

รพ.ธรรมศาสตร์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อก่อนรับผู้ป่วยโควิดที่รพ.สนาม

          เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่โรงสนามธรรมศาสตร์ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ,รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ , รศ.พญ.นันตรา สุวันทารัตน์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เข้าตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม พร้อมเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมความก่อนรับผู้ป่วยโควิด-19 บริเวณรอบและภายในห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 308 เตียง

            ผู้ป่วยเชื้อโควิดที่มีผลทดสอบเป็นบวกและได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาฯ ศิริราช รามา วชิระ และธรรมศาสตร์ อย่างน้อย 5 ถึง 7 วันและพบว่ามีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ สามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จะส่งมาที่โรงพยาบาลสนามในการดูแลต่อและสังเกตอาการจนผลตรวจการฆ่าเชื้อเป็นลบจากนั้นจึงส่งให้กลับบ้านตามขั้นตอนต่อไป ทางด้านเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นฆ่าเชื้อได้ใช้น้ำยาที่ใช้ฉีดพ่นในครั้งนี้ เป็นสารไบโอ Germ killer ulitma ฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท คีนน์ จำกัด ร่วมกับ สวทช. และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันพัฒนาน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสเป็นน้ำยาที่ได้มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก ฆ่าเชื้อโรคก่อนรับคนไข้จริงที่จะมาพักรักษาตัวก่อนกลับบ้าน

             ด้าน รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า จากเหตุการณ์การแพทย์ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีคนไข้ติดเชื้อเข้ามารักษาภายในโรงพยาบาลจำนวนมากและเริ่มเกินศักยภาพการรองรับของโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่ง80% ของผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยมีเพียง 20% ที่มีอาการมากต้องการรักษาภายในโรงพยาบาลแต่สภาพขณะนี้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอยู่ภายในโรงพยาบาลส่งผลให้ผู้ป่วยใหม่ไม่สามารถเข้ารักษาภายในโรงพยาบาลได้ ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาล Uhosnet 5แห่ง ประกอบด้วย จุฬาฯ ศิริราช รามา วชิระ และธรรมศาสตร์ ร่วมกันวางแผนและตัดสินใจสร้างโมเดลรูปแบบในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ให้มีศักยภาพเป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลในส่วนอื่น ๆ ทางธรรมศาสตร์ ได้พิจารณาสถานที่ที่เหมาะสมโดยใช้ หอพักดีลัก ซึ่งเป็นหอพักเอเชียนเกมส์เดิม สูง 14 ชั้น จำนวน 308 ห้อง ห้องพักมีความเหมาะสม
              เนื่องจาก มีโซนที่สามารถแยกออกจากส่วนอื่น ภายในห้องพักมีระบบปรับอากาศที่ดี มีโซนซักล้าง ในห้องพื้นที่ทางเดินโปร่งโล่งอากาศไหลเวียนดี สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ได้มีการปรับปรุงการแยกโซนสะอาดและโซนติดเชื้อได้อย่างชัดเจน และมีระบบรองรับในการป้องกันการปนเปื้อน รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานโรงพยาบาล การดูแลผู้ป่วยจะมีระบบกล้องวงจรปิดสังเกตอาการการพูดคุยผ่านระบบเทเล ไอทีคาเมร่า แต่หากเข้าไปในโซนผู้ป่วยต้องมีการแต่งชุดด้วยชุด PPE และการป้องกันตามมาตรฐานมีการกำกับควบคุมทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกตึก การรับส่งอาหารเจ้าหน้าที่จะนำอาหารมาวางไว้ที่ชั้นวางหน้าห้องก่อนจะให้ผู้ป่วยออกมารับอาหารเข้าไปรับประทานภายในห้องเอง วัสดุอุปกรณ์จะใช้เพียงครั้งเดียงและทิ้งเป็นขยะอันตรายขณะนี้โรงพยาบาลเริ่มทยอยรับผู้ป่วยที่ล้นจากโรงพยาบาลในกรุงเทพ มาสังเกตุอาการที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้วจะเริ่มส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เริ่มดำเนินการรับผู้ป่วยรายแรกเวลา 09.00 น. วันพฤหัสฯ ที่ 26 มีนาคม 2563 นอกจากนี้ทาง รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยังคงระดมรับบริจาคเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อมาสนับสนุนโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ สามารถบริจาคผ่าน ธนาคารทหารไทย สาขาธรรมศาสตร์รังสิต ชื่อบัญชี รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (กองทุนบริจาค) เลขบัญชี 050-2-00002-9.

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!