สุพรรณบุรี-อธิบดี พช.ร่วมป่อเต็กตึ้งมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพ

สุพรรณบุรี-อธิบดี พช.ร่วมป่อเต็กตึ้งมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพ

ภาพ/ข่าว:อริย์ธัช พรอัศวโยธิน/คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน
📌พช. จับมือ ป่อเต็กตึ้ง เดินหน้าแก้จน มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพ จังหวัดสุพรรณบุรี
        วันนี้( 20 มีนาคม 2563 ) กรมการพัฒนาชุมชน โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ มูลนิธิ ป่อเต็กตึ๊ง โดยนายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ผู้บริหารมูลนิธิฯ ร่วมเป็นประธานในพิธีมอบวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนยากจน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 10 ครัวเรือน ณ ที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าไซ ทั้งนี้มีนายสมภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายวีระชาติ สมบูรณ์วิทย์พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี นายอำเภอหนองหญ้าไซ พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และผู้นำกลุ่มองค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน
       นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้แสดงความห่วงใยในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมทั้งแนะให้ชุมชนร่วมกันหาแนวทางในการป้องกันตนเองจากสถานการณ์ดังกล่าว และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ตลอดจนได้ให้กำลังใจกับครัวเรือนในการประกอบอาชีพในช่วงสภาวะวิกฤตนี้
       อธิบดี พช. แนะแนวทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนว่า “…สิ่งที่ฝากให้ครัวเรือนยากจนทำ คือ การช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของตนเองในเบื้องต้นซึ่งหมายถึง ระดับครัวเรือน โดยการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ เช่น ปลูกกล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น หนึ่งคนเลี้ยงไก่ประจำตัว 2 ตัว ถ้าทำได้จะทำให้เกิดประโยชน์ ช่วย “ลดรายจ่าย” และมีอาหารปลอดภัยรับประทานในครัวเรือน นอกจากนี้ขอให้ทุกครัวเรือนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการบริหารจัดการขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนประจำครัวเรือนเพื่อช่วยลดปริมาณขยะเปียกที่ท้องถิ่นต้องเก็บไปกำจัดทิ้ง ที่สำคัญขยะเปียกเน่าเหม็น เป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะการไม่เอาขยะเปียกไปทิ้งในที่ทิ้งขยะทั่วไป แต่นำไปทิ้งในถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่มีวิธีการทำง่ายๆคือขุดหลุมให้ลึกกว่าก้นถังพลาสติกที่ตัดก้นถัง นำไปใส่หลุม จะช่วยให้ขยะเปียกหรือเศษอาหารที่ใส่ในถังถูกจุลินทรีย์ แบคทีเรียหรือไส้เดือนช่วยย่อยสลายขยะเปียกกลายเป็นปุ๋ยนำไปใส่พืชได้
จึงขอให้ครัวเรือนยากจนที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพให้ประกอบอาชีพเป็นต้นแบบแก่คนในชุมชน ทำให้มีรายได้มากขึ้น รวมไปถึงการนำแนวคิดเรื่องการปปลูกพืชผักสวนครัว การบริหารจัดการขยะเปียกในครัวเรือน ในชุมชน นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนยังนำไปเป็นปุ๋ยได้ ตลอดจนการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบคอนโด ทำเป็นครัวเรือนตัวอย่าง ในการรักษาสิ่งแวดล้อมแก่เพื่อนบ้าน โดยเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน “…และขอให้นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ร่วมกันติดตาม สนับสนุนครัวเรือนยากจนทั้ง 10 ครัวเรือน ของจังหวัดสุพรรณบุรี ในการประกอบอาชีพ และส่งเสริมให้ครัวเรือนดำเนินวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง…”
     สุดท้ายนี้ กรมพัฒนาชุมชน และ มูลนิธิฯ ป่อเต็กตึ๊ง เห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือคนยากจนและคนที่ด้อยโอกาส ให้มีเครื่องมือในการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครัวเรือนให้ดีขึ้น อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนให้สามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม …อธิบดี พช. กล่าว

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!