กระบี่-ลุยจัดกิจกรรม ศิลปะเรือหัวโทงเชื่อมโยงวิถีถิ่น ผนึกกำลังปลุกท่องเที่ยวไทย
ภาพ/ข่าว:สุพมาศ พรหมมาส
‘กระบี่’ ลุยจัดกิจกรรม ศิลปะเรือหัวโทงเชื่อมโยงวิถีถิ่น ผนึกกำลัง‘รัฐ เอกชน ศิลปิน’ปลุกท่องเที่ยวไทย
จากการจุดประกายของสภาวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ กลุ่มศิลปินจังหวัดกระบี่ สู่โครงการ “ศิลปะเรือหัวโทงเชื่อมโยงวิถีถิ่น” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต่อยอดไม่ทอดทิ้ง จับมือพันธมิตร ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ โรงแรม ชุมชนท่องเที่ยว บริษัททัวร์ และสถาบันสอนศิลปะ ร่วมท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีถิ่น นำร่องที่จังหวัดกระบี่ สร้างศิลปะบนเรือหัวโทง สัญลักษณ์ท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามัน ก่อนขยายพื้นที่กิจกรรมไปสู่จังหวัดอื่นในภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน หวังกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเพิ่ม คาดช่วยดันมูลค่าท่องเที่ยวไทยระหว่างปี 63-64 เติบโตก้าวกระโดด
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือภาคเอกชน จัดกิจกรรมการท่องเที่ยว CEO ต้นแบบ CSR FAM TRIP ท่องเที่ยวปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย.2563 โดยดึงพันธมิตรร่วมงานกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมบนเรือหัวโทง รวมทั้งทิศทางส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับโรงแรมพันธมิตร องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สภาวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดกระบี่ ผู้ทรงคุณวุฒิ และกลุ่มศิลปิน ณ โรงแรม Sofitel Krabi Phokeethra Golf & Spa Resort ภายในงานมีกิจกรรม Workshop ผ้ามัดยอด เพ้นท์ผ้าบาติก และอาหารออร์แกนิคจากชุมชนท่องเที่ยวตำบลคลองประสงค์ และชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก
ส่วนในเวทีเสวนา มีการกล่าวถึงปัญหาสถานการณ์ COVID-19 ที่สร้างผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยวและคนทั่วไป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตระหนักถึงปัญหานี้ จึงมีแผนจัดกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาคใต้ทุกภาคส่วน อาทิ กลุ่มโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน ร้านค้า ร้านอาหาร และร้านขายของฝากของที่ระลึก หวังเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวในวันธรรมดา โดยผนึกกำลังกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มศิลปิน จัดแคมเปญ “CEO ต้นแบบ CSR” เชิญชวนองค์กรจัดกิจกรรม CSR Outing ร่วมสนับสนุนซ่อมแซมเรือหัวโทงและร่วมเพนท์ลายอัตลักษณ์ถิ่นบนเรือหัวโทงกับศิลปิน ทำกิจกรรม Workshop และ Team building ที่สนุกสนานออกแบบโดยผู้ชำนาญการท่องเที่ยว เพื่อสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่เดินทางกลับบ้านเกิดให้มีอาชีพและมีรายได้จากการท่องเที่ยว และพักผ่อนในโรงแรมที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้มาตราฐาน Green Hotel หรือ Green Leaf ในราคาพิเศษ
โดยมีองค์กรพันธมิตร อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโดย นายนำพล โพธิวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจกรรมเพื่อสังคม นางสาวอุษณิษา คุณเอกอนันต์ ผู้ชำนาญการอาวุโสสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ผศ.ดร. สมพร แต้มประสิทธิ์ ตัวแทนกลุ่มศิลปิน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์วิศาล ค่องสกุล ตัวแทนกลุ่มศิลปินเพนท์เรือหัวโทงศิลปะในจังหวัดกระบี่ นายชาญฤทธิ์ เพิ่มทรัพย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่และประธานชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก นายอนิรุทธ์ มีล่าม ประธานกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวตำบลคลองประสงค์ อาจารย์พญอม จันนิ่ม ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ และนางสาววิชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง เกี่ยวกับศิลปะที่เป็นตัวเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชน การสร้างมาตรฐานท่องเที่ยวปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม และประชาสัมพันธ์ทำธุรกรรมออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวในยุค New Normal สร้างปรากฏการณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เกิดเป็นรูปธรรมร่วมกับโรงแรม ลดการใช้พลังงาน วัสดุสิ้นเปลือง ส่งเสริมนักเดินทางท่องเที่ยวแบบใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม หนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ เป็นที่ยอมรับในศักยภาพการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ททท.ยังมีแผนจัดกิจกรรมเชื่อมโยงต่อยอดในแคมเปญ “พักที่นี่เที่ยวฟรีชุมชน” ร่วมกับโรงแรมในจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน โดยให้กลุ่มนักท่องเที่ยวและช่างภาพประกวดถ่ายรูปในหัวข้อ “ศิลปะเรือหัวโทงเชื่อมโยงวิถีถิ่น” ลุ้นเงินรางวัลพร้อมประกาศนียบัตร และร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการภาพถ่าย หวังกระตุ้นกลุ่มคนไทยที่ชอบท่องเที่ยวต่างประเทศ มีกำลังซื้อสูง รักการเดินทาง รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบถ่ายภาพ สนใจท่องเที่ยวแบบใส่ใจสังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวในภาคใต้ เช่น จังหวัดกระบี่ เที่ยวชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก เดินทางด้วยเรือหัวโทงศิลปะที่ได้รับการสนับสนุนซ่อมแซมและตกแต่งจากแคมเปญ CEO ต้นแบบ CSR ถ่ายรูปสถานที่ท่องเที่ยว Unseen ใหม่ๆ อาทิ ล่องเรือชมทะเลใน ชมภาพเขียน 3,000 ปี ชมการเลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี และกระชังสาหร่ายพวงองุ่น ไหว้พระธาตุแหลมสัก ทำกิจกรรมเพนท์ผ้าบาติก ชมความงามเขาขนาบน้ำ อุโมงค์ต้นไม้ นั่งสามล้อชมวิถีถิ่นและทุ่งนาข้าวสังข์หยดกว่า 1,000 ไร่ และกิจกรรม CSR ปล่อยปูคืนสู่ทะเล เป็นต้น
ด้าน นายนิธี สีแพร ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการศิลปะเรือหัวโทงเชื่อมโยงวิถีถิ่น เป็นการส่งเสริมพัฒนาเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อาศัยงานศิลปะให้เป็น Creative Tourism เพราะช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ชุมชนได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่หายไป ครั้งนี้เป็นโอกาส ที่จะส่งเสริมนโยบายซ่อมสร้างให้ชุมชน เตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการนำเรือหัวโทง ที่เดิมบริการนักท่องเที่ยว ใช้โอกาสเรือที่จอดอยู่นิ่งๆ ปรับปรุง ซ่อมแซม และยกระดับให้เรือมีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวหลังโควิดได้ โครงการนี้จะทำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า มีการดึงบริษัทต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ร่วมทำ CSR เชิงท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มประชุม สัมมนาด้วย” นายนิธี กล่าว อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ หวังว่าจะช่วยกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเพิ่ม และดันมูลค่าท่องเที่ยวไทยระหว่างปี 2563-2564 เติบโตก้าวอย่างกระโดด ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/