รมว.พม. เปิดสัมมนาเสริมพลังคนตาบอด ท่ามกลางการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มุ่งสู่ “สังคมแห่งโอกาส”
ภาพ/ข่าว:ศูยน์ข่าวจังหวัดเชียงใหม่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดสัมมนาการเสริมพลังคนตาบอด ท่ามกลางการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เผยรัฐบาลมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็น “สังคมแห่งโอกาส” พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
วันนี้ (25 เม.ย. 65) ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาการเสริมพลังคนตาบอด ท่ามกลางการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 : รอด รุ่ง ร่วมเติบโต พัฒนาไปด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ เท่าเทียม และเป็นธรรมถ้วนหน้า และสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติ ครั้งที่ 25 โดยมีนายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสิทธิ โอกาสและความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมของคนพิการ โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทุกคนมีโอกาสและความเสมอภาคในทุกด้านหรือการเป็น “สังคมแห่งโอกาส” พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)
ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดแนวทาง “Next Step : ก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียม” เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการควบคู่กับการก้าวเข้าสู่ช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งมีแนวทางดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างโอกาส ความเท่าเทียมในหลักการ 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 การคุ้มครองและช่วยเหลือคนพิการกลุ่มเปราะบาง โดยการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลคนพิการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคนพิการให้เข้าถึงระบบสิทธิและสวัสดิการที่พึงได้รับ พร้อมทั้งจัดหาครอบครัวอุปการะให้แก่คนพิการที่ไม่มีผู้ดูแลซึ่งจะทำให้คนพิการได้อยู่ร่วมกับสมาชิกครอบครัวและในชุมชนอย่างมีความสุข ประเด็นที่ 2 การปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ หนึ่งในเป้าหมายการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิ สวัสดิการและความช่วยเหลืออย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งมีการพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน “บัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล” เพื่อให้คนพิการเข้าถึงการใช้สิทธิสวัสดิการ และความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และประเด็นที่ 3 การพัฒนาระบบและศักยภาพคนพิการ โดยการยกระดับอาชีพใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคนพิการให้มีความทันสมัย ซึ่งจะทำให้คนพิการสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวอย่างมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐ ให้มีความสะดวกรวดเร็วเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย