พระพรหมประกาศิต ลิขิตชีวิตที่ดีงามธรรมะดีๆ จากหลวงพี่น้ำฝน
ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน
เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน ประเทศไทยของเราถือว่าเป็นประเทศจุดหมายสายมูอีกแห่งหนึ่งของผู้ศรัทธาชาวจีน ทั้งแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน–ฮ่องกง ตลอดจนชาวจีนโพ้นทะเลในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จะเห็นได้ว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยหลายแห่งนั้นคลาคล่ำไปด้วยพี่น้องชาวจีนที่มาบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนนิยมมาบูชามากที่สุดในประเทศไทย นั่นคือ “พระพรหม” พระพรหม เป็นมหาเทพหนึ่งในสามองค์ ร่วมกับพระอิศวร และพระนารายณ์ อยู่ในฐานะผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งชีวิตและจิตวิญญาณของแต่ละคน ฤๅษีชีไพรแต่โบราณ ร่วมสมัยกับพระพุทธองค์ ต่างประสงค์จะนำจิตวิญญาณของตนไปรวมกับพระพรหมอันเป็นต้นกำเนิด จึงพยายามบำเพ็ญเพียรทางจิต หรือบำเพ็ญทุกรกิริยา เพื่อให้สมความตั้งใจ ส่วนพระพรหมในทางพุทธศาสนานั้นเป็นเทวดาชั้นสูง สูงยิ่งไปกว่าเทวดาทั่วไปในฉกามาพจร พรหมนั้นมีหลายองค์ แต่มีประธานแห่งพรหม คือ พระพรหมธาดาปชาบดี
พระพรหมมีบทบาทในพุทธประวัติหลายตอนด้วยกัน เช่น ครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงพระผนวชเป็นสมณะ ฆฏิการพรหมได้นำสมณบริขารมาถวาย หรือครั้งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ไม่นาน พระพุทธเจ้าทรงรำพึงว่า ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งยาก ยากจะหาผู้ใดเข้าใจได้ จึงทรงน้อมพระทัยไปในทางจะไม่แสดงธรรม สหัมบดีพรหมรับรู้เรื่องนี้ถึงกับอุทานถึงสามครั้งว่า “ฉิบหายแล้ว! โลกถึงคราวพินาศแล้วทีนี้หากพระพุทธองค์ไม่แสดงธรรม” จึงพาเหล่าเทพทั้งหลายมาเฝ้า ทูลพระองค์ว่า ในโลกนี้ยังมีสรรพสัตว์ที่กิเลสน้อย สามารถสอนได้อยู่ ขอให้ทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เถิด พระองค์รับฟังคำทูลของสหัมบดีพรหมแล้ว ด้วยพระกรุณาคุณ จึงใช้ทิพยจักษุตรวจดูเวไนยสัตว์ในโลก จึงทรงพบว่าสรรพสัตว์ในโลกนี้มีอยู่หลายชนิด ชนิดที่สามารถรู้ธรรมได้ก็มี รู้ธรรมได้ยากก็มี อุปมาเหมือนบัวเหล่าต่าง ๆ จึงทรงรับคำอาราธนาของสหัมบดีพรหม และตัดสินพระทัยสั่งสอนเวไนยสัตว์ต่อไป เหตุเหล่านี้ เราจึงบูชาพระพรหมมาแต่โบราณกาล เพราะพระพรหมคือผู้ลิขิตชะตาชีวิตของบุคคล เป็นผู้ให้กำเนิดวิทยาการความรู้ ความงดงามต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุด พระพรหม คือ ผู้เป็นใหญ่ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ควรแก่การบูชาด้วยประการต่าง ๆ ดังมีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “พรหมวิหาร 4” หรือ ที่ตั้งแห่งความเป็นพรหม 4 ประการ ได้แก่
เมตตา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
กรุณา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง
ผู้ที่ปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้ได้ ย่อมมีพรหมเป็นปลายทางเป็นเบื้องต้น พรหมนั้นเป็นสภาพที่เหนือไปกว่าเทวดาทั้งหลายอันข้องเกี่ยวอยู่กับกาม เป็นสภาวะอันใกล้เคียงความบริสุทธิ์ยิ่ง ด้วยเป็นชั้นที่ความสุขนั้นมิได้เจือด้วยกามราคะ ผู้ใดที่ทำกุศลอย่างดีแล้ว มีฌานสมาบัติ ดำรงอยู่ในพรหมวิหาร ผู้นั้นย่อมถึงพรหมโลก เราถือกันมาว่า การบูชาพระพรหม มีอานิสงส์ทำให้สมหวังตามปรารถนา พระพรหมนั้นขออะไรก็ให้ มีความเมตตากรุณาพ้นประมาณ จึงนำมาเปรียบกับบิดามารดาว่าเป็นพรหมของบุตร เพราะบิดามารดาโดยทั่วไปนั้นมีความรักความเมตตากรุณาต่อบุตรของตนมิต่างกัน ผู้คนจึงพากันมาบูชาพระพรหม เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณธรรมอันดีงามของพระพรหม และได้รับอานิสงส์คือความสุขสมหวังทุกประการ ตลอดเวลาที่ผ่านมา อาตมาเห็นผู้ศรัทธา ทั้งชาวไทย ชาวจีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เดินทางมายังวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม เพื่อมาบูชา “พระพรหมประกาศิต” ซึ่งนับเป็นยอดวัตถุมงคลของทางวัดอย่างหนึ่ง เรียกได้ว่า เหมือนพระพรหมประกาศิตท่านเลี้ยงวัดเลยก็ว่าได้ เพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่กลายเป็นเสนาสนะถาวรวัตถุ รวมถึงความเป็นอยู่ของพระ ศิษย์วัด มาจากพระพรหมประกาศิตนี้แหละ ผู้คนศรัทธากันมาก เพราะบูชาไปแล้วได้ผลทางพุทธคุณจริง ๆ แล้วก็บอกต่อกันไปในประเทศของตน เขาก็มาตามหา ไผ่ล้อมเทมเปิ้ล ก่อนโควิดนี่เรียกได้ว่าทุกสัปดาห์ มาตามหาพระพรหมของไผ่ล้อมเทมเปิ้ล พอมาถึงที่แล้วก็ดีใจ มาเช่าบูชาพระพรหม แล้วก็ได้มากราบสรีระสังขารหลวงพ่อพูล มาทำพิธีลงนะเมตตา เขาก็ชื่นอกชื่นใจกลับไป กลับไปแล้วมีจิตศรัทธาในพระพรหม เกิดความมั่นใจ เกิดพลังใจ ทำอะไรก็สำเร็จดุจพระพรหมประกาศิตลิขิตสมปรารถนา พระพรหมประกาศิตของวัดไผ่ล้อมนี้ ออกแบบเป็นรูปพระพรหมสี่พักตร์ มีความงดงามดังเทพบุตรอันอ่อนเยาว์อยู่เสมอ เป็นผลแห่งการทำความดี ในแต่ละพระหัตถ์ถือสิ่งต่าง ๆ ได้แก่
ลูกประคำ หรือ อักษมาลา เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นนักบวช นักพรต เพราะลูกประคำเป็นสิ่งใช้นับเพื่อการภาวนา สำรวมกาย วาจา ใจ
ดอกบัว คือ ความดีงาม ความเบิกบานในธรรม
คัมภีร์ คือ ความรู้ ภูมิปัญญา
หม้อน้ำ หรือ กมัณฑลุ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นนักบวช นักพรต หม้อบรรจุน้ำนี้ เป็นสัญลักษณ์แห่งการให้กำเนิดสิ่งต่าง ๆ จารึกอักขระ เม กะ มุ อุ เป็นหัวใจพระพรหม หมายถึง พรหมวิหารทั้งสี่ประการ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันเป็นที่ตั้งแห่งความเป็นพรหม เมื่อบูชาแล้ว ขอให้ระลึกถึงความเป็นพรหม ระลึกถึงที่ตั้งของพรหม และปฏิบัติตนให้เป็นพรหม ในชาตินี้แหละ อานิสงส์นั้นจะทำให้เราเป็นสุขดุจพรหมโดยแท้จริง ในปัจจุบัน ที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม มีรูปพระพรหมประกาศิตประดิษฐานในศาลด้านหน้าวิหารหลวงพ่อพูล ให้ผู้ศรัทธาสาธุชนมาสักการบูชาได้ ซึ่งก็มีผู้มาบูชากันเป็นประจำไม่ขาดสาย ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด เชื่อกันว่าหากชีวิตติดขัด เงินทองขัดสน อยากจะปลดเปลื้องความทุกข์ ให้ชีวิตราบรื่น การงานเจริญรุ่งเรือง ปราศจากภัยพาล ให้มาอธิษฐานจิตขอพรจากพระพรหมประกาศิต กราบไหว้บูชาขอพรได้ดั่งใจสมหวัง และมีวัตถุมงคล พระพรหมประกาศิต ในรูปแบบต่าง ๆ ให้เช่าบูชา ที่โต๊ะเช่าบูชาวัตถุมงคลของทางวัดภายในวิหารหลวงพ่อพูล ขอเจริญพร