เชียงใหม่-ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มและรักษาหายแล้ว 1 ราย

เชียงใหม่-ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มและรักษาหายแล้ว 1 ราย

ภาพ/ข่าว:นันธิกา กิจปาโล/ศราวุธ เจิมจันทร์ 
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

      จังหวัดเชียงใหม่ไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 เพิ่ม และมีผู้ป่วยที่รักษาหาย เพิ่ม 1 ราย ด้านท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
        แพทย์หญิง ลดาวรรณ หาญไพโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ว่า วันนี้ (3 เม.ย.63) ไม่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่ม ยังคงผู้ป่วยติดเชื้อ 36 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 30 ราย มีผู้ป่วยรักษาตัวหาย เพิ่ม 1 ราย รวมผู้ที่กลับบ้านได้แล้ว 6 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค 696 ราย กลับบ้านแล้ว 644 ราย ยังคงอยู่ในโรงพยาบาลอีก 51 ราย หลังจากในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น จังหวัดเชียงใหม่จึงมีมาตรการปิดสถานบันเทิง และสถานที่ต่างๆ เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ร่วมกับมีการสอบสวนและควบคุมโรค ทำให้มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่ดีขึ้น ซึ่งทางหน่วยงานสาธารณสุขยังคงมาตรการ Social Distancing 4 ข้อ ประกอบด้วย การเว้นระยะห่างระหว่างผู้คน 1-2 เมตร การหลีกเลี่ยงการสัมผัสทางกาย การหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน หรือการใช้ขนส่งสาธารณะ และการให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work from home เพื่อเป็นการลดการติดเชื้อ และชะลอการติดเชื้อในจุดที่สูง ลงมาให้อยู่ในจุดที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนชาวเชียงใหม่ยังคงปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing ต่อไป
        ด้าน นายสมชาย เกตะมะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีข้อสั่งการให้ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ปรับเป็นศูนย์เฉพาะกิจในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเบื้องต้นหากพบว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบเฉพาะหน้า หาซื้อสิ่งของอุปโภค-บริโภคไม่ได้ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำถุงยังชีพไปเยียวยาให้
สำหรับในระยะต่อไปเมื่อมีข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะประสานงานไปยังผู้ที่ตกงานและยังประสงค์ที่จะอยู่ในพื้นที่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จากนั้นจะประสานไปยังผู้ประกอบการในพื้นที่ให้จ้างแรงงานจากกลุ่มนี้ก่อน ในส่วนของท้องถิ่น ถ้ามีข้อมูลแล้ว ก็อาจจะจ้างแรงงานให้ทำงานในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ เช่น เก็บขยะ กวาดถนน หรือทำโครงการต่างๆ รวมไปถึงถ้ามีสถานที่ว่างเยอะ ก็อาจจะขอใช้ที่บางส่วนมาทำเป็นแปลงเกษตร โดยท้องถิ่นจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช และใช้แรงงานชาวบ้านที่ตกงานมาช่วยกันปลูก เพื่อเป็นอาหารในพื้นที่ต่อไป

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!