ม.แม่โจ้ ลงนามร่วม สวอ. เตรียมเปิดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อัญมณีเครื่องประดับ
ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดนครปฐม
ม.แม่โจ้ ลงนามร่วม สวอ. เตรียมเปิดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อัญมณีเครื่องประดับ พัฒนาอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับของภาคเหนือ
วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สวอ. จัดพิธีบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน ด้านการวิเคราะห์ วิจัย อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย การตรวจวิเคราะห์ ทดสอบอัญมณีเครื่องประดับ และโลหะมีค่า พัฒนาสนับสนุนให้มีห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานของสถาบัน รวมถึงสนับสนุนการให้คำปรึกษาด้านวิชาการ วิจัย หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายและบูรณาการกิจกรรมร่วมกันตามพันธกิจของแต่ละฝ่าย โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ มี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เป็นผู้แทนลงนามของทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องเอกภพวิทยา อาคารจุฬาภรณ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “นับเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการแสดงเจตนารมณ์ที่จะสร้างมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์อัญมณีและเครื่องประดับในจังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาองค์กรและบุคลากรของทั้งสองสถาบันร่วมกัน โดยการพัฒนานี้จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในด้าน พัฒนาอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ มหาวิทยาลัยยินดีให้ทาง สวอ. อำนวยการอบรมให้ ความรู้และคำปรึกษาในการพัฒนาห้องปฏิบัติการของคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร และสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อสร้างมาตรฐานด้านการวิเคราะห์และตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าที่มีมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการค้าแก่ผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ ผู้บริโภค สร้างสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองสถาบันในการร่วมมือผลักดันให้เกิดมิติใหม่ ในวงการการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นที่ยอมรับสู่สากลต่อไป”