ศรีสะเกษ-ครูประกาศก้องหนุนกรรมาธิการวิสามัญยุบศึกษาธิการจังหวัด
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ
ครูประกาศก้องหนุนกรรมาธิการวิสามัญยุบศึกษาธิการจังหวัด เผยทำงานซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษาสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ควรนำงบประมาณส่วนนี้จัดสรรไปให้ ร.ร.พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมจะดีกว่า
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศรีวรรณ เกียรติสุรนนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายธีรนันท์ คำคาวี ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษจำกัด ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเสวนา เรื่อง ครูศรีสะเกษคิด ซึ่ง นายอุดม โพธิ์ชัย ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ ร่วมกับ นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท.) นายสุนทร ภุมรีจิตร เลขาธิการชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายศราวุธ วามะกัน ประธานเครือข่ายชมรมโรงเรียนขนาดเล็กแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดการประชุมเสวนานี้ขึ้น มีพระสงฆ์และข้าราชการครูในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ที่เป็นตัวแทนสมาชิกเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก มีกิจกรรมประกอบด้วย การเสวนา ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ โดย นายสนอง ทาหอม นายศราวุธ วามะกัน นายสุนทร กุมรีจิตร นายอุดม โพธิ์ชัย นายวิสัย เขตสกุล และการเสวนา การบริหารโรงเรียนแบบ บวร โดย นายเอกอมร ใจจง ผู้นำเสวนา นายทิวา รุ้งแก้ว ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนพระ 1 รูป ผู้แทนกรรมการสถานศึกษา 1 คน ผู้แทนครู 1 คน ซึ่ง นายอุดม โพธิ์ชัย ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด เพื่อคัดค้านการยุบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก และให้เปิดการศึกษาภาคบังคับในทุก ร.ร. เพื่อขอให้พิจารณาให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายอุดม โพธิ์ชัย ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการ ร.ร.คุณภาพของชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของ น.ร. โดยมองอนาคตในอีก 20 ปี ข้างหน้าว่า ร.ร.ประถมศึกษาที่จะเป็น ร.ร.ดีของชุมชนมีจำนวนเท่าไร และมี ร.ร.ที่สามารถบริหารการใช้ทรัพยากรร่วมได้จำนวนเท่าไร สำหรับ ร.ร.มัธยมศึกษาจะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สพม.สพป. ช่วยกันพัฒนาและคัดเลือก ร.ร.มัธยมดี สี่มุมเมือง เพื่อรับต่อ น.ร.ที่จบจาก ร.ร.ดีของชุมชนเข้าเรียนต่อ การเก็บ น.ร.ใน ร.ร.ขยายโอกาสที่เป็น ร.ร.ขนาดเล็กมาเรียนได้อีก เป็นการลดภาระ ร.ร.แข่งขันสูงและทำให้ น.ร.มาเรียน ที่ ร.ร.มัธยมดีสี่มุมเมืองมากขึ้น แต่หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลกลับให้ประโยชน์แก่ครูและผู้บริหารสถานศึกษา ร.ร.เครือข่ายที่นำ น.ร.มาเรียนรวมกับ ร.ร.หลักทุกชั้น เมื่อ น.ร. ร.ร.เครือข่ายมาเรียนรวมกับ ร.ร.หลักทุกชั้น ครู ผู้บริหารสถานศึกษาได้ประโยชน์ในการย้ายไปดำรงตำแหน่งใน ร.ร.ที่มีปริมาณงานสูงขึ้น ร.ร.ไม่เหลือ น.ร. ครู ผู้บริหาร แล้วจะมี ร.ร.ไปทำไม มิหนำซ้ำผู้มีอำนาจยังให้โทษผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายด้วยการพิจารณาความดีความชอบที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วยต้องปฏิบัติตาม นายอุดม โพธิ์ชัย ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ จึงขอเรียกร้อง ดังนี้คือ หากจำเป็นต้องยุบหรือควบรวม ต้องโดยความเห็นชอบของประชาชนโดยมติเอกฉันท์ หากมติไม่เอกฉันท์ให้จัดการเรียนการสอน ณ จุดนั้นต่อไปจน น.ร.คนสุดท้าย ไม่ยุบและยกเลิกนโยบายการควบรวม ร.ร.เล็กเพื่อความมั่นคงของชุมชน ต้องพัฒนา ร.ร.แบบองค์รวม พัฒนาครูแต่ละคนให้สอนได้ทุกวิชาและทุกชั้น พัฒนาหลักสูตรให้สร้างคน ให้คนสร้างชุมชน สอดคล้องกับยุคสมัยและบุคคล เรียนที่ไหนคุณภาพต้องเหมือนกัน เปิดการศึกษาภาคบังคับในทุก ร.ร.สร้างเครือข่ายร.ร.ขนาดเล็กระดับเขตพื้นที่ และระดับจังหวัด และให้ ร.ร.เป็นนิติบุคคล
นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึง “คำสั่งที่ 19/2560” เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เม.ย.2560 ด้วย ซึ่งจะส่งผลถึงการยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) หรือยุบ ‘ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค’ ในอนาคตนั้น ในวันนี้เวทีครูศรีสะเกษเพื่อที่จะสนับสนุนให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามต้นไม้พิษก็ต้องยุบ เลิก ลงไป เวทีครูศรีสะเกษขอสนับสนุน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าวด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้มีการทบทวนมติดังกล่าว โดยขอสนับสนุนให้มีการยืนตามมติเดิมต่อไป เนื่องจากว่า 5 ปีที่ผ่าน ศธจ.และ ศธภ. มาทำงานทับซ้อนซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่มีอยู่แล้ว และมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ควรยุบหรือยกเลิกหน่วยงานนี้และนำงบประมาณกลับไปพัฒนา ร.ร.เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของครู ให้ครูผู้สอนมีความรู้ความสามารถและวุฒิการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านตัวผู้เรียนหรือนักเรียนให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยการจัดการศึกษาควรใช้รูปแบบของคณะกรรมการสถานศึกษา ดึงภาคประชาชน ภาคเอกชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ท้องถิ่น ชุมชน ศิษย์เก่า เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดการเรียนรู้ของเด็กผ่านหลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนาเด็กแต่ละพื้นที่ และมีหลักสูตรแกนกลางเอาไว้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กไทยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมต่อไป